ประวัติความเป็นมา
เมื่อครั้งกลับมาเยือนบ้านเกิด คือ หมู่บ้านร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย ได้เห็นว่า "วัดร่องขุ่น" ที่คนรุ่นพ่อร่วมกันสร้างนั้นมีสภาพทรุดโทรมเป็นที่สุด อาจารย์เฉลิมชัยจึงเกิดแรงดลใจว่าอยากสร้างวัดร่องขุ่นด้วยศิลปะสมัยใหม่ เหมาะกับประเทศไทย ภายใต้ร่มโพธิสมภารของในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมถึงอยากจะสร้างงานศิลปะให้ยิ่งใหญ่ฝากไว้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ณ บ้านเกิด อาจารย์จึงลงมือก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยอุทิศทั้งชีวิตให้กับการสร้างงานชิ้นสุดท้ายของชีวิตชิ้นนี้ ด้วยเงินที่เก็บสะสมมาจากการจำหน่ายผลงานศิลปะในเวลากว่า 20 ปี
สิ่งที่โดดเด่นเมื่อมาเยือนวัดร่องขุ่น ก็คือ "พระอุโบสถ" ที่มีความโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ทางศิลปะ และสถาปัตยกรรมที่แสนวิจิตรอลังการ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงช่อฟ้า ใบระกา และรายละเอียดซึ่งแตกต่างไปจากวัดแห่งอื่น โดยตัวพระอุโบสถที่เน้นสีขาวบริสุทธิ์นั้นสื่อแทนพระบริสุทธิคุณ ขณะที่กระจกขาววาววับจับประกายระยิบระยับ หมายถึงพระปัญญาธิคุณของพระพุทธองค์ที่โชติจรัสชัชวาลไปทั่วทั้งโลกมนุษย์ และจักรวาล
ด้านสะพานหมายถึงการเดินข้ามวัฏสงสารมุ่งสู่พุทธภูมิ ก่อนขึ้นสะพานครึ่งวงกลมเล็ก หมายถึงโลกมนุษย์ วงใหญ่ที่มีเขี้ยวเป็นปากของพญามารหรือพระราหู หมายถึงกิเลสในใจแทนขุมนรกคือทุกข์ ผู้ใดจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระพุทธภูมิต้องตั้งจิตปลดปล่อยกิเลสตัณหาของ ตนเองทิ้งลงไปในปากพญามาร เพื่อเป็นการชำระจิตเราให้ผ่องใสถึงจะเดินผ่านขึ้นไป ส่วนบนของหลังคาโบสถ์ได้นำหลักธรรมอันสำคัญยิ่งของการปฏิบัติจิต 3 ข้อ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นำไปสู่ความว่าง (ความหลุดพ้น)
ขณะที่ ช่อฟ้าเอก หมายถึง ศีล ประกอบด้วยสัตว์ 4 ชนิด ผสมกันแทน ดิน น้ำ ลม ไฟ โดย ช้าง หมายถึง ดิน, นาค หมายถึง น้ำ, ปีกหงส์ หมายถึง ลม และหน้าอก หมายถึง ไฟ ขึ้นไปปกปักรักษาพระศาสนา บนหลังช่อฟ้าเอกแทนด้วยพระธาตุ หมายถึง ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ข้อ และ 84,4000 พระธรรมขันธ์
ช่อฟ้าชั้นที่ 2 (บน) หมายถึง สมาธิ แทนด้วยสัตว์ 2 ชิด คือ พญานาคกับหงส์ เขี้ยวพญานาค หมายถึง ความชั่วในตัวมนุษย์ หงส์ หมายถึง ความดีงาม ศีลเป็นตัวฆ่าความชั่ว (กิเลส) เมื่อใจเราชนะกิเลสได้ก็เกิดสมาธิ มีสติกำหนดรู้เกิดปัญญา และช่อฟ้าชั้นที่ 3 (สูงสุด) หมายถึง ปัญญา แทนด้วยหงส์ปากครุฑ หมอบราบนิ่งสงบไม่ปรารถนาใด ๆ มุ่งสู่การดับสิ้นซึ่งอาสวะกิเลสภายใน ด้านหลังหางช่อฟ้าชั้นที่ 3 มีลวดลาย 7 ชิ้น หมายถึง โพชฌงค์ 7 ลาย 8 ชิ้นรองรับฉัตร หมายถึง มรรค 8 ฉัตร หมายถึง พระนิพพาน รวมถึงลวดลายบนเชิงชายด้านข้างของหลังคาชั้นบนสุดแทนด้วยสังโยชน์ 10 เสา 4 มุม ด้านข้างโบสถ์ คือ ตุง (ธง) กระด้าง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าตามคติล้านนา
นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่แสนอลังการฝีมือของอาจารย์เฉลิมชัย ซึ่งไม่น่าพลาดชมอยู่ภายในโบสถ์อีกด้วย โดย ภายในพระอุโบสถ ประกอบด้วยภาพเขียนสีทองตามผนังทั้ง 4 ด้าน เพดานและพื้นเป็นภาพเขียนที่แสดงถึงการหลุดพ้นจากกิเลสมาร มุ่งเข้าสู่โลกุตรธรรม ส่วนหลังคาพระอุโบสถได้นำหลักการของการปฏิบัติจิต 3 ข้อ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน
โดยวัดกำลังสร้างต่อเติมไปเรื่อย ๆ ให้ครบทั้ง 9 หลังตามเป้าหมาย ให้เป็นอาคารที่มีรูปทรงแตกต่างกัน เพื่อเป็นเมืองสวรรค์อันยิ่งใหญ่ให้คนทั้งโลกยอมรับและชื่นชมในผลงานการ สร้างพุทธศิลป์แห่งนี้ ถึงแม้ว่าการก่อสร้างวัดนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ความงามที่ปรากฏได้สร้างความสุขทางใจให้ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวในพุทธ ศาสนา กับรายละเอียดตกแต่งที่พิถีพิถันทั่วทุกมุม ซึ่งไม่เพียงแต่ความวิจิตรที่สัมผัสได้เพียงภายนอกเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงหลักธรรมในศาสนาที่ลึกซึ้งให้ผู้ที่มาเยือนได้กลับไปขบคิดกัน อีกด้วย