ประเทศผู้ส่งออกยางธรรมชาติที่สำคัญของโลกคือ ไทย ร้อยละ 44.8 อินโดนีเซีย ร้อยละ 26 มาเลเซีย ร้อยละ 15.1 รวม 3 ประเทศมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 86 ของการส่งออกยางทั้งหมด ซึ่งมีประมาณ 4.6 - 5 ล้านตันต่อปี โดยมีประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญอื่น ๆ คือ ไนจีเรีย ศรีลังกา เวียดนาม กัมพูชา ไลบีเรีย แต่มีบทบาทในตลาดโลกน้อยมาก โดยส่วนใหญ่ประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติจะผลิตยางธรรมชาติการส่งออกเป็นหลัก มีการใช้ในประเทศเพียงเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ยกเว้นสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้ผลิตหลายประเทศทั้งมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ได้ใช้ยางธรรมชาติที่ผลิตได้เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยางในประเทศมากขึ้น โดยประเทศผู้ส่งออกหลัก 3 ประเทศ มีการส่งออกยางธรรมชาติในปี 2544 ดังนี้ ไทยส่งออกยางธรรมชาติรวม 2.45 ล้านตัน เป็นยางแผ่นรมควันจำนวน 981,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 94.7 ของการค้ายางแผ่นทั่วโลก ยางแท่ง 898,000 ตัน และน้ำยางข้น 410,500 ตัน คิดเป็นร้อยละ 70.4 ของการค้าน้ำยางข้นทั่วโลก ไทยจึงเป็นผู้ส่งออกยางแผ่นรมควันและน้ำยางข้นมากที่สุดในโลก อินโดนีเซียส่งออกยางธรรมชาติรวม 1.49 ล้านตัน เป็นยางแท่ง 1.36 ล้านตัน เป็นประเทศที่ส่งออกยางแท่งมากที่สุดในโลก มากกว่าร้อยละ 45 ของการค้ายางแท่งทั้งหมดของโลก ส่วนมาเลเซียส่งออกยางแท่งเป็นส่วนมาก โดยมีการส่งออกยางแท่ง 716,000 ตัน มากกว่าร้อยละ 87 ของการส่งออกยางธรรมชาติของมาเลเซียทั้งหมด ตามตารางที่ 4
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการแข่งขันของประเทศผู้ส่งออกยางพาราทั้ง 4 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จะพบว่าทั้งสี่ประเทศมีการแบ่งตลาดยางพารากันค่อนข้างชัดเจน คือ
ไทยส่วนใหญ่ส่งออกน้ำยางข้น และยางแผ่นรมควัน ซึ่งตลาดหลักคือ ตลาดญี่ปุ่น และจีนที่เทคโนโลยีการผลิตยางรถยนต์(ผลิตภัณฑ์หลักที่ใช้วัตถุดิบยางพารา) ยังนิยมใช้ยางแผ่นรมควันของไทยที่เป็นที่ยอมรับว่ามีความยืดหยุ่นสูง คุณภาพดีและราคาเหมาะสม