เปโตรนาส อาคารแฝดซึ่งตั้งตระหง่านใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ถือเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความทันสมัย และความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศสู่ความเจริญรุ่งเรืองของมาเลเซียในยุคปัจจุบัน
หอคอยคู่แห่งนี้แม้จะเสียสถิติตึกที่สูงที่สุดในโลกให้กับอาคารไทเป 101 ของไต้หวัน ตั้งแต่ปี 2547 แต่ล่าสุด ตึกเปโตรนาส ยังคงครองแชมป์อาคารแฝดที่สูงที่สุดของโลก ด้วยความสูง 451 เมตร และจำนวนชั้นทั้งหมด 88 ชั้น
ตึกเปโตรนาส ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 1 พัน 6 ร้อยล้านดอลลาร์ หรือราว 4 หมื่น 6 พันล้านบาท โดยเริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่ปี 2535 และเริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2542 โดยมีนายเซซาร์ เปลลี สถาปนิกชาวอาร์เจนตินา เป็นผู้ออกแบบตัวอาคาร
นายเปลลี บอกว่า อาคารแฝดแห่งนี้สร้างขึ้นในสไตล์โพสต์โมเดิร์น และมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เนื่องจากเขาดีไซน์รูปแบบของตัวอาคารให้สะท้อนศิลปะของศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของมาเลเซีย โดยเฉพาะรูปทรงส่วนฐานของตึก ที่ได้แรงบันดาลใจจากดาว 8 แฉกของอิสลาม และเพิ่มเติมพื้นที่ทรงกลมเข้าไปบริเวณมุมแต่ละด้าน เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย และตอบโจทย์สำหรับใช้เป็นอาคารสำนักงานทั่วไป
ด้านวัสดุที่ใช้ก่อสร้างตัวอาคารเน้นคอนกรีตเป็นหลัก เพื่อความมั่นคงแข็งแรง เนื่องจากตึกแฝดคู่นี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งเป็นซอฟต์ร็อค หรือหินผุ แต่ส่วนเปลือกของตัวอาคาร ผู้สร้างเน้นใช้กระจก และอลูมิเนียม เพื่อเพิ่มความเปร่งประกาย และความทันสมัยให้กับตัวอาคาร
นอกจากนี้ เนื่องจากมาเลเซีย ต้องการให้การก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนดภายในเวลา 6 ปี รัฐบาลมาเลเซียจึงว่าจ้างบริษัท 2 แห่งจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อแข่งขันกันก่อสร้างอาคารแต่ละหลัง โดยมีสะพานลอยฟ้า 2 ชั้น เชื่อมอาคารทั้งสองหลังเข้าด้วยกันบริเวณชั้นที่ 41 และ 42 ทำให้สะพานแห่งนี้ กลายเป็นสะพาน 2 ชั้น ที่มีความสูงมากที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน
ล่าสุด ตึกเปโตรนาส อาคารหนึ่ง ใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทปิโตรนาส ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัฐบาลมาเลเซีย ส่วนอาคารหลังที่สองมีบริษัทเอกชนจากทั่วโลก เดินทางไปเช่าพื้นที่เพื่อใช้เป็นสำนักงานมากมาย ในจำนวนนี้ รวมถึง หัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีจากประเทศจีน อัลจาซีรา สำนักข่าวของกาตาร์ ตลอดจน โบอิ้ง ไอบีเอ็ม และไมโครซอฟต์ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา