พ่อหลวง ผู้ครองใจราษฎร์
ทำไมคนไทยถึงรักในหลวง ? คำถามที่คำตอบอาจไม่สามารถร้อยเรียงความคิดจากใจให้ครบถ้วนออกมาเป็นคำพูดได้ เพราะพระราชจริยวัตรที่งดงาม พระราชกรณียกิจอันมากมายนับไม่ถ้วน พระองค์ทรงเป็นทั้งกษัตริย์ที่ปกครองคุ้มภัยอาณาประชาราษฎร์ พระองค์ทรงเป็นพ่อผู้ให้ทั้งความรู้ แนวคิด ต้นแบบ นอกจากโครงการต่างๆ ที่ช่วยให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ที่ได้รับมอบถวายปริญญากิตติมศักดิ์มากเป็นสถิติโลกถึง 136 ฉบับ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของปวงชนชาวไทย
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกโครงการที่กระจายไปทั่วภูมิภาคผืนแผ่นดินไทย ล้วนแต่ทำให้ราษฎรนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ และรู้จักใช้ประโยชน์สูงสุดจากต้นทุนที่มีอยู่ หลายพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ พระองค์ก็ทรงพระราชทานความช่วยเหลือ พลิกฟื้นความแห้งแล้งมาเป็นแหล่งทำกิน ถึงตอนนี้พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิ 8 มูลนิธิ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นถึง 4,100 โครงการ โดยล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และพัฒนาน้ำเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ดิน ธรณีวิทยา การเกษตร ตลอดจนการจัดสรรที่ดิน การประกอบอาชีพ รวมถึงการอนุรักษ์ และพัฒนาป่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มโครงการหลายอย่างเพื่อเป็นแนวทางให้กับประชาราษฎร์ อย่างในวังจิตรลดาของพระองค์เองก็เป็นต้นแบบเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง มีการเลี้ยงสัตว์ ทำเกษตร จนเรียกได้ว่าเป็นวังที่แปลกประหลาดที่สุดในโลกก็ว่าได้ อย่างเรื่องเล่าจากในวังที่นำมาเล่าสู่กันฟังบนโลกโซเชียล เรื่องที่พระองค์ไม่เสวยปลานิล หลังทรงเลี้ยงเป็นอย่างดี จนได้ขยายแพร่พันธุ์เป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้ประชาชน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดเสวยปลานิล ทุกครั้งที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น โดยไม่รับสั่งอะไรเลย
จนวันหนึ่งมีผู้กล้าหาญชาญชัยกราบบังคมทูลถามว่า เพราะเหตุใดจึงไม่โปรดเสวยปลานิล มีรับสั่งว่า “ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”
20 ปีก่อน ราวพุทธศักราช 2524 แรกครั้งพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งญี่ปุ่น ยังทรงฐานันดรศักดิ์เป็นมกุฎราชกุมารได้ส่งปลานิลทางเครื่องบินจำนวน 100 ตัวมาทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง ปรากฏว่า เมื่อเดินทางมาถึงเมืองไทย ปลาตายเกือบหมด เหลือรอดแบบใกล้ตายเพียง 10 ตัว
ในหลวง ทรงเป็นห่วงเป็นใยปลานิลเหล่านี้ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้นำไปไว้ในพระที่นั่ง ทรงเลี้ยงอย่างประคบประหงม ให้อาหารด้วยพระองค์เอง จนปลานิลทั้ง 10 ตัวรอดชีวิตแล้วปลานิลทั้ง 10 ตัว ได้สนองพระเดชพระคุณแพร่พันธุ์ไปอีกมากมายตามพระราชประสงค์เป็นอาหารคนไทย 62 ล้านคน มาจนถึงทุกวันนี้
เดินตามรอยเท้าพ่อ
คนไทยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุด มีพระราชดำริโครงการเพื่อช่วยเหลือเหล่าประชาราษฎร์ในแผ่นดิน ทรงวางแนวทางให้ลูกๆ ได้ก้าวเดินอย่างมั่นคงและยั่งยืน อย่างปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่แม้แต่ โคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 และได้มีปาฐกถาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า เป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสามารถเริ่มได้จากการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้นในที่สุด
“พอมีพอกิน ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าประเทศมีพอกินยิ่งดี” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จวบจนวันนี้คำพ่อสอน “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้แปรเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทยหลายคน ไม่ว่าจะคนรวย คนจน ให้อยู่อย่างมีความสุขเพียงแค่รู้จักคำว่า “พอ” ตัวอย่างเกษตรกรที่คุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังเดินตามคำพ่อสอน คำใหม่ บริบาล หมอดินนักพัฒนาชาวราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ในตอนแรกจากที่เขาเป็นเพียงเกษตรกรอย่างเดียว เมื่อได้มารู้จักกับคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง จึงทำให้ได้พลิกผืนดินของตนเองมาเป็นไร่ผสมผสานทั้งการเกษตรและปศุสัตว์
“เราเป็นเกษตรกร เราเป็นหมอดิน ก็เลยมาคิดว่าจะทำเกษตรให้ได้ผลดีอย่างไร โดยไม่ต้องใช้ยา ใช้สารเคมี หลังผมไปอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์ ที่ศูนย์อบรมเศรษฐกิจพอเพียงก็เลยเอาสมุนไพรมาทำ ผมทำมาได้ห้าหกปี ก็ดีขึ้นมาก ดีขึ้นเยอะ เราก็ได้ใบรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง แล้วเราก็เป็นตัวอย่างให้คนอื่นดูว่าเรามีที่แค่นี้เราทำได้มั้ย 1 ไร่ 1 แสนบาท
แล้วก็มาลองทำดู เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ทำทุกอย่าง ข้างบนเราจะทำบ่อปลา ถัดมาเป็นที่อยู่อาศัยและโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ แล้วก็เป็นนาข้าว บ่อกบ บ่อปลา แปลงผัก ผมทำทุกอย่าง ขอให้ได้เงินทุกวันก็พอ สรุปปีนึงเราได้หนึ่งไร่เกือบเหยียบล้านบาท รายได้เรามากขึ้น รายจ่ายก็น้อยลง ชีวิตครอบครัวดีขึ้น พอเรามาทำตามเศรษฐกิจพอเพียง จะเห็นได้ว่าเป็นการลดค่าใช้จ่ายได้จริงๆ”
กิมฮก แซ่เตีย เกษตรกรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสม ปี 2553 ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่นำปรัชญาพอเพียงมาปรับใช้ภายในพื้นที่ 31 ไร่ โดยการปลูกพืชทุกชนิดที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน และนำกิจกรรมอื่นๆ มาผสมผสาน อย่างการเลี้ยงไก่งวงบนบ่อปลา การปลูกผลไม้แบบผสมผสาน การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ จากตอนแรกที่เคยเป็นหนี้ มาตอนนี้ก็มีรายได้สม่ำเสมอ ถึงไม่ร่ำรวย แต่ก็อยู่ได้แบบสบายๆ โดยคติประจำใจที่กิมฮกยึดถือและปฏิบัติคือ “ความพอเพียงคือพออยู่ พอกิน เห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง”
ธ รวมใจไทยทั้งผอง
หลากเหตุการณ์ หลายกิจกรรม ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพ