สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในอัตราชั่วโมงละ 8.50 ยูโร และระบุมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราดังกล่าว โดยมีข้อยกเว้นสำหรับการจ้างลูกจ้างบางประเภท และบางภาคอุตสาหกรรมซึ่งยังไม่บังคับให้จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำจนกว่าจะพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านในวันที่ 31 ธันวาคม 2560
การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติของเยอรมนีมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในภาคส่วนที่ได้รับค่าจ้างต่ำมิให้ถูกกดค่าแรงและเพื่อลดจำนวนลูกจ้างที่ทำงานเต็มเวลาแต่ยังต้องพึ่งพาสิทธิประโยชน์ทางสังคมลง กระทรวงแรงงานเยอรมนีคาดว่าการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม มีประสิทธิผล และประกันความมั่นคงของระบบประกันสังคมของเยอรมนี ทั้งนี้ เยอรมนีจะติดตามตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและหากมีการละเมิดกฎหมายก็จะลงโทษอย่างเฉียบขาด สำหรับการพิจารณาว่าในอนาคตควรจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเท่าใดนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นองค์กรอิสระ
1. ความเป็นมาเกี่ยวกับการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของเยอรมนี
แต่เดิมระบบค่าจ้างของเยอรมนีมีความแตกต่างจากประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเนื่องจากมิได้มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายทั่วไป แต่มีระบบค่าจ้างที่เป็นอิสระซึ่งได้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในบางสาขาอาชีพตามการตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในสัญญาจ้างระดับรายบุคคลหรือการเจรจาต่อรองร่วมกันระหว่างกลุ่มนายจ้างกับสหภาพแรงงานในพื้นที่ของบางรัฐ โดยที่รัฐมิได้เข้ามาแทรกแซง ทำให้ไม่มีการหยิบยกเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะกลไกระบบค่าจ้างที่เป็นอยู่ได้ทำหน้าที่เสมือนค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแต่ละสาขาอาชีพอยู่แล้ว ก่อนหน้ากฎหมายว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำมีผลบังคับ เยอรมนีได้กำหนดให้ใช้ค่าจ้างขั้นต่ำในภาคเศรษฐกิจบางประเภท ซึ่งแตกต่างกันไปตามภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพลง เนื่องจากมีนายจ้างจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมรับค่าจ้างตามที่กำหนด อีกทั้งสหภาพแรงงานมีสมาชิกและอำนาจในการต่อรองลดลง ดังนั้นตั้งแต่กลางปี 2547 จึงได้เริ่มมีการอภิปรายกันเกี่ยวกับการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติ ภายใต้การนำของนาย Franz Munterfering หัวหน้าพรรค the Social Democratic Party (SPD) ในขณะนั้น ซึ่งรัฐบาลผสมของสหพันธ์ฯ ที่มีพรรค Christian Democrats (CDU) และ the Christian Social Union of Bavaria (CSU) และ SPD เป็นแกนนำได้นำกลุ่มแรงงานต่าง ๆ เข้ามาพิจารณาเกี่ยวกับรูปแบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม
หลังการเจรจาที่ยืดเยื้อมายาวนาน สภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) ของเยอรมนีก็ได้ให้ ความเห็นชอบกฎหมายว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 และต่อมาในวันที่ 11 กรกฎาคม 2557 สภามลรัฐ (Bundesrat) ก็ได้ให้การรับรองร่างกฎหมายฉบับนี้ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติที่กำหนดอัตราค่าจ้างไว้ชั่วโมงละ 8.50 ยูโรนี้เป็นผลจากส่วนหนึ่งของข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรค CDU ของนาง Angela Merkel พรรคพันธมิตรคือ CSU และพรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญ โดยพรรค SPD ได้ตั้งเงื่อนไขหนึ่งว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลก็ต่อเมื่อนาง Merkel และพรรค CDU ตกลงให้มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลร่วมแล้วเสร็จ ความพยายามที่จะให้มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติจึงประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรก และเยอรมนีได้เริ่มใช้ค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ทั้งนี้กระทรวงแรงงานเยอรมนีประมาณการว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศใช้ใหม่นี้จะส่งผลต่อคนจำนวน 3.7 ล้านคน
2. ค่าจ้างขั้นต่ำและการบังคับใช้
2.1 การบังคับใช้
แม้กฎหมายว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำของเยอรมนีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 แต่บางภาคอุตสาหกรรมได้รับอนุญาตให้ยังไม่ต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงเปลี่ยนผ่านไปจนกว่าจะถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งหมายความว่านายจ้างยังสามารถจ่ายค่าจ้างรายชั่วโมงโดยรวมได้ต่ำกว่าชั่วโมงละ 8.50 ยูโรเฉพาะในบางสาขา แต่จะต้องไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่สาขานั้นได้กำหนดไว้ก่อนหน้าการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นอัตราที่นายจ้างและสหภาพแรงงานได้เจรจาหารือและตกลงร่วมกัน สาขาอาชีพที่ยังไม่ต้องใช้ค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์และบริการช่างทำผมสำหรับในทุกรัฐ งานชั่วคราวในเยอรมนีตะวันออกและเบอร์ลิน งานทำความสะอาดโครงสร้างอาคารในเยอรมนี
สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดโดยข้อตกลงร่วมกัน นายจ้างยังต้องปฏิบัติตามที่กำหนด กล่าวคือ หากอัตราค่าจ้างตามข้อตกลงสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย นายจ้างก็ต้องจ่ายในอัตราที่ได้ตกลงร่วมกัน แต่หากอัตราที่ข้อตกลงกำหนดนั้นน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย German Posted Workers Law (ตัวอย่างเช่น บริการทำความสะอาดเชิงพาณิชย์และบริการด้านการดูแลสุขภาพ) นายจ้างจะยังสามารถจ่ายในอัตราเดิมในช่วงเปลี่ยนผ่านไปจนถึงสิ้นปี 2559 แล้วถึงจะต้องจ่ายอัตราขั้นต่ำตามที่กฎหมายใหม่กำหนดรายละเอียดตามตารางดังต่อไปนี้