การศึกษาพัฒนาการและการแพร่กระจายของหัตถกรรมผ้าซิ่นตีนจกในพื้นที่ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาพัฒนาการของผ้าซิ่นตีนจก 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแพร่กระจายหัตถกรรมการทอผ้าซิ่นตีนจก 3) เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางเพื่อการพัฒนาส่งเสริมหัตถกรรมการทอผ้าซิ่นตีนจก
การศึกษาครั้งนี้ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งข้อมูลเอกสารและการลงภาคสนาม โดยการเก็บแบบสอบถามและการสัมภาษณ์จากทั้งประธานกลุ่มทอผ้าและสมาชิกกลุ่มผู้ทอผ้าซิ่น จำนวน 30 คน ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอตีนจกจำนวน 10 คน และผู้สวมใส่ผ้าทอตีนจกจำนวน 40 คน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าซิ่นตีนจก เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ
ผลการศึกษาพัฒนาการและการแพร่กระจายของผ้าซิ่นตีนจก พบว่า ประชาชนในตำบลชัยจุมพล เป็นกลุ่มคนไท-ยวน ที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสนโยนกนคร แห่งอาณาจักรล้านนา สาเหตุจากสงครามเมื่อสมัยอยุธยา ซึ่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองลับแลเพราะสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ดังนั้นจึงเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมแบบท้องถิ่นพื้นบ้าน วัฒนธรรมล้านนา และวัฒนธรรมล้านช้างไว้ด้วยกัน ทำให้ผ้าซิ่นตีนจกไทยวนเป็นวัฒนธรรมที่ถูกนำเข้ามาที่เมืองลับแลด้วย จึงการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมเป็นผลทำให้เกิดการแพร่กระจายของหัตถกรรมผ้าซิ่นตีนจก โดยมีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ทำเลที่ตั้ง แหล่งวัตถุดิบ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ อาชีพและรายได้ การตลาด ราคา ลวดลายผ้าทอ รวมถึงปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีความเชื่อค่านิยม และความร่วมมือของสมาชิกในกลุ่ม รวมถึงการสนับสนุนของรัฐและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการแพร่กระจายหัตถกรรมการทอผ้าซิ่นตีนจกของชาวลับแล