วัดโลกยสุธา หรือ วัดโลกยสุธาราม แต่ชื่อที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า วัดพระนอน ตั้งอยู่ที่ ถ.คลองท่อ ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยาเป็น อีกหนึ่งแหล่งโบราณสถานที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาสักการะ พระพุทธไสยาสน์ องค์พระนอนองค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความยาว 42 เมตร สูง 8 เมตร สร้างขึ้นในสมัยอยุธาตอนปลาย ซึ่งจัดเป็นวัดที่มีความสำคัญมากอีกวันหนึ่งในสมัยนั้น เพราะกษัตริย์ในสมัยนั้นทรงให้ความสำคัญแก่พระนอนอย่างมาก
ประวัติความเป็นมาของวัดโลกยสุธา
วัดโลกยสุธา หรือนักท่องเที่ยวในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ วัดพระนอน เนื่องจากมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ในเกาะกรุงศรีอยุธยา ยาว 42 เมตร สูง 8 เมตร ทั้งนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ.2499 พระนอนของวัดร้างนี้ในขณะนั้น จึงเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาจนถึงปัจจุบัน ใน สมัยอยุธยาตอนปลาย กษัตริย์ทรงให้ความสำคัญแก่พระนอนอย่างมาก เช่น ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ได้มีการย้ายที่ประดิษฐานพระนอนวัดป่าโมก (ยาว 22.58 เมตร) เมืองอ่างทอง เนื่องจากที่ตั้งเดิมนั้นถูกแม่น้ำกัดเซาะแล้วจึงสร้างวัดขึ้นใหม่ หรือในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ได้มีการบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารอยุธยาว่า พระองค์เสด็จไปนมัสการพระนอนจักรสีห์ (ยาว 45 เมตร) แห่งเมืองสิงห์บุรี และนมัสการพระนอนวัดขุนอินทรประมูล เมืองอ่างทอง (ยาว 50 เมตร พระนอนวัดนี้ได้ชื่อว่าเป็นพระนอนที่ยาวที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน)
มุขท้ายของวิหารใหญ่เชื่อมต่อกับระเบียงคดที่เหลือแต่ฐานราก ยาวด้านละ 67.50 เมตร โดยมีพระปรางค์สูงราว 30 เมตรเป็นองค์ประธานของวัด ถัดไปเป็นฐานของอุโบสถ (33 × 17 เมตร) นอกระเบียงคดด้านท้ายวัดจึงเป็นพระนอนซึ่งหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ พระเศียรไปทางทิศตะวันออก ส่วนวิหารนั้นได้พังทลายไปแล้ว
หากเพื่อน ๆ มาท่องเที่ยวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองมรดกโลก ที่ยังคงอนุรักษ์และฟื้นฟูโบราณสถานสำคัญ ๆ เอาไว้ ซึ่งปัจจุบันสถาปัตยกรรมเหล่านี้นับวันยิ่งถูกกาลเวลาทำลาย เราจึงต้องช่วยกันอนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญเช่นนี้ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ชม ความเป็นมาของบรรพบุรุษต่อ ๆ ไป มาเที่ยวอยุธยา อย่าลืมแวะมาชมและสักการะองค์ พระพุทธไสยาสน์ วัดโลกยสุธา น่ะครับ
การเดินทาง วัดโลกยสุธา ตั้ง อยู่ถัดจากเจดีย์ศรีสุริโยทัยเข้าไปทางด้านหลังประมาณกิโลเมตร บริเวณวัดอยู่ติดกับวัดวรเชษฐาราม ผ่านไปตามถนนในบริเวณโรงงานสุรา หรือจะเข้าไปตามถนนหลังพลับพลาตรีมุขในบริเวณพระราชวังโบราณผ่านวัดวรโพธิ์ และวัดวรเชษฐาราม