เป็นวิถีช้างไทยคู่สยาม
ในจดหมายเหตุของ ‘ฟอร์บัง’ นายเรือโทชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งหนึ่ง ฟอร์บังได้เข้าเฝ้าติดตามดูการคล้องช้างกับพระนารายณ์ และจดบันทึกถึงสิ่งที่พบ ความตอนหนึ่งว่า
“คนพื้นที่ประเทศนี้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลชั้นไหน เขาขึ้นนั่งคอช้างกันทั้งนั้น และทำการบังคับช้างด้วยตนเอง ยกเว้นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว นอกเสียจากว่าเวลาออกศึกเท่านั้น คนไทยใช้สัตว์โตเหล่านี้ทำงานต่างๆ มันทำงานเหมือนคนรับใช้ เช่น ให้เลี้ยงเด็ก มันก็จะเอางวงอุ้มเด็กลงในเปลแล้วไกวจนเด็กหลับ และแม่ของเด็กต้องการอะไรก็สั่งให้ช้างไปหยิบมาได้”
การสนทนาระหว่างฟอร์บังกับพระนารายณ์ที่แสดงให้เห็นความฉลาดเฉลียวของช้าง และความสัมพันธ์ที่ช้างเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีต ความว่า
“ช้างตัวที่เรา(พระนารายณ์)ขี่อยู่เดี๋ยวนี้ เป็นตัวอย่างช้างฉลาดได้ไม่สู้นานนัก …ควาญคนหนึ่งได้ตัดอาหารลงให้มันกินแต่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น มันจะกล่าวโทษควาญก็พูดไม่ได้ มันจึงแผดเสียงดังลั่นไปทั่วพระราชวัง เราเดาไม่ถูกว่าเหตุใดมันจึงร้อง เราจึงมีความสงสัยสั่งให้ควาญคนใหม่ไปเลี้ยงช้างตัวนี้ ควาญคนนี้เป็นคนซื่อจัดหาข้าวให้มันเต็มเม็ดเต็มหน่วย ช้างตัวนี้ยื่นงวงออกไปแบ่งข้าวเป็นสองส่วน กินแต่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แล้วแผดเสียงดังลั่นขึ้นอีก คนที่วิ่งไปดูจึงรู้ว่าควาญคนก่อนโกงอาหารช้าง อ้ายควาญช้างคนนั้นรับสารภาพว่า ได้ขโมยข้าวช้างจริงๆ”
เรื่องเล่าถึงความชาญฉลาดของช้างอีกเรื่องหนึ่งที่ฟอร์บัง หรือออกพระศักดิ์สงคราม บันทึกไว้จากการประสบด้วยตนเอง “…คือเมื่อช้างถึงเวลาผสมพันธุ์หรือตกมัน มันจะดุร้ายมาก มีอยู่วันหนึ่งควาญนำช้างตกมันตัวหนึ่งลงไปในน้ำ มันหนีควาญไปได้แล้วลงไปอาวะวาดอยู่กลางแม่น้ำ ทำให้คนตกใจแตกตื่นกันมาก ข้าพเจ้าจึงขึ้นมาตามมันไปดูว่ามันจะทำอะไร ได้พบผู้หญิงยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตัดพ้อว่าช้างตกมัน”
หญิงคนนั้นตัดพ้อต่อหน้าช้างว่า “พ่อจะให้ผัวข้าถูกตัดตะโพกหรือ พ่อรู้ดีอยู่แล้วว่าควาญที่ปล่อยให้ช้างหนีไปได้นั้นจะต้องได้รับพระอาญาเช่นนั้น นี่แน่โดยเหตุที่ผัวข้าต้องตาย ฆ่าลูกข้าเสียด้วยก็แล้วกัน”
พูดขาดคำลงดังนี้แล้วหญิงคนนั้นก็เอาลูกวางที่พื้นแล้ววิ่งหนีไป เด็กก็ร้องไห้งอ ช้างแลเห็นเด็กร้องไห้ดิ้นรนอยู่จึงใจอ่อน ขึ้นจากน้ำแล้วเอางวงอุ้มเด็กคนนั้นพากลับไปโรงช้าง ยืนและนิ่งสงบเสงี่ยม