วัดพระแท่นศิลาอาสน์
ตั้งอยู่บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากตัวจังหวัด
14 กิโลเมตร อยู่เลยวัดพระยืนไปเล็กน้อย
ความเป็นมา เดิมชื่อ วัดมหาธาตุ เป็นวัดโบราณ ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ได้เสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์เมื่อปี พ.ศ.2283 แสดงว่า
พระแท่นศิลาอาสน์ได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง
เมื่อปีพ.ศ. 2451 ไฟไหม้ป่ามณฑปและวิหารเหลือแต่แท่นศิลาแลง รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ บานประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ที่เคยเป็นไม้แกะสลักนั้น เคยเป็นประตูวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลกมาก่อน
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า พระแท่นศิลาอาสน์อาจมีมาก่อนแล้วช้านาน ก่อนที่พระเจ้าบรมโกศเสด็จไปบูชา เพราะพระแท่นศิลาอาสน์อยู่ริมเมืองทุ่งยั้ง ซึ่งตั้งมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย และบางทีชื่อทุ่งยั้งนั่นเอง จะเป็นนิมิตให้เกิดมีพระแท่นเป็นที่พระพุทธเจ้าประทับยับยั้ง เมื่อเสด็จผ่านมาทางนั้น
ในทางตำนานมีคติทีเชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จยังพื้นที่ใดๆ ภายนอกอินเดียด้วยอิทธิฤทธิ์ฌานสมาบัติ และได้ประดิษฐานเจดีย์ หรือตรัสพยากรณ์อะไรไว้ใน ณ แห่งนั้น เป็นคติที่เกิดในลังกาทวีป และประเทศอื่นได้รับเอาไปเชื่อถือด้วย จึงเกิดมีเจดีย์วัตถุและพุทธพยาการณ์ ที่อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานเจดีย์ไว้มากบ้างน้อยบ้างทุกประเทศ เฉพาะเมืองไทยมีปรากฏในพงศาวดาร โดยลำดับมาว่า พบรอยพระพุทธบาท ณ ไหล่เขาสุวรรณบรรพต เมื่อรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม รัชกาลพระเจ้าเสือได้เสด็จไปบูชา พระพุทธฉาย ณ เขาปัถวี และ พระบรมโกศ เสด็จไปบูชาพระแท่นศิลาอาสน์
สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
พระแท่นศิลาอาสน์ เป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานของพระแท่นโดยรอบประดับด้วยลายกลีบบัว มีตำนานว่า พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เคยเสด็จมาจำศีลบำเพ็ญพุทธบารมี ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาจึงมีการสร้างพระแท่นศิลาอาสน์ขึ้น
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นที่แสดงเครื่องมือจับสัตว์น้ำโบราณ เรือพายโบราณ ชั้นบน แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตชาววัง ชาวบ้านสมัยก่อน เครื่องจักสาน เครื่องมือตีเหล็ก ก่อสร้าง เครื่องสังฆโลกสมัยสุโขทัย ธรรมาสน์โบราณ พระพุทธรูปที่แกะจากไม้ ต้นโพธิ์โบราณ และพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวเหนือ