ภูเขาศิลาล้วน ย่อมตั้งมั่นไม่หวั่นเพราะแรงลมฉันใด ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ก็ย่อมมีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลายฉันนั้น "
** จิตหวั่น คือ ความหวั่นหวาด กังวล กลัวว่าจะประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ
** จิตไหว คือ ความปรารถนาอยากได้สิ่งที่รักที่ชอบใจ
** โลกธรรม คือ
เรื่องราวที่เกิดขึ้นประจำโลกใครๆ ก็ต้องพบหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประสบ
มีอยู่ ๘ ประการ แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
** ก. ฝ่ายที่คนทั่วไปปรารถนาอยากได้ คือ
๑.ได้ลาภ คือ
การได้ผลประโยชน์ เช่น ได้ทรัพย์ ได้ลูก ได้เมีย ได้บ้าน ได้ที่ดิน ได้เพชรนิลจินดาต่างๆ เป็นต้น
๒.ได้ยศ คือ
การได้รับตำแหน่ง ได้รับฐานะ ได้อำนาจ ได้เป็นใหญ่เป็นโต
๓.ได้สรรเสริญ คือ
การได้ยินได้ฟังคำชมเชย คำยกยอ คำสดุดี ที่คนอื่นให้เรา
๔.ได้สุข คือ
ได้รับความสบายกายสบายใจ ได้ความเบิกบานร่าเริงได้ความบันเทิงใจทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเรื่องที่คนทั่วไปชอบ ยังไม่ได้ก็คิดหา ครั้นหาได้แล้ว ก็คิดหวง หวงมากๆ เข้าก็หึงการที่จิตมีอาการหา หวง ห่วง หึง นี่แหละเรียกว่าจิตไหว
** ข. ฝ่ายที่คนทั่วไปกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตน คือ
๑. เสื่อมลาภ คือ
ผลประโยชน์ที่ได้มาแล้วเสียไป เช่น เสียเงิน เสียที่อยู่ ลูกรักตายเสีย เมียรักตายจาก
๒. เสื่อมยศ คือ
ถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ
๓. ถูกนินทา คือ
ถูกตำหนิติเตียน ถูกด่าว่าในที่ต่อหน้าหรือลับหลัง
๔. ตกทุกข์ คือ
ได้รับความทุกข์ทรมานทางกายหรือทางใจ
** ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเรื่องที่คนเราไม่ชอบ
ไม่ปรารถนา ให้เกิดขึ้นกับตัว เมื่อยังมาไม่ถึง จิตก็หวั่น
ว่ามันจะมา เมื่อมันมาแล้วก็ภาวนาว่าเมื่อไหร่จะไปเสียที ไปแล้วก็ ยังหวั่น กลัวว่ามัน จะกลับมาอีก
** จิตไม่หวั่นไหว ในโลกธรรม คือ อะไร ?
จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม หมายถึง สภาพจิต ของผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว มีใจตั้งมั่นเกิดความมั่นคง หนักแน่นดุจขุนเขา เป็นอุเบกขาวางเฉยได้ เมื่อพบกับ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ตกทุกข์ จิตก็ไม่หวั่น
เมื่อพบกับความได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ เป็นสุข จิตก็ไม่ไหว เพราะรู้เท่าทันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืนอะไร ลาภมีได้ก็เสื่อมได้ ยศตำแหน่งใหญ่โต ก็ไม่ใช่ของเราตลอดไป สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ทุกคนต้องพบทั้งนั้น และในที่สุดก็ต้องเสื่อมหายไป เป็นธรรมดา ตามกฎของไตรลักษณ์
*******************************************
ไตรลักษณ์
ไตรลักษณ์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สามัญลักษณะ
คือ ลักษณะประจำ ของทุกสรรพสิ่งในโลก ของต่างๆในโลก ก็มีคุณสมบัติต่างกันไปเช่น ทองก็มีสีออกเหลืองๆสะท้อนแสง มีประกายแวววาว กระจกก็ใส คนเราก็มีชีวิตจิตใจรู้จักคิด เพชรก็แข็ง แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม จะมีลักษณะ ๓ ประการ ที่เหมือนกันหมด คือ
๑.อนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่หยุดอยู่กับที่ ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่น บ้านเรือนก็ต้องเก่าคร่ำคร่า ทรุดโทรมไป คนเราวันนี้กับเมื่อวานก็ไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดา
๒.ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเป็นทุกข์ร้องไห้น้ำตาตกเท่านั้น แต่หมายถึง การคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องแตกดับ เพราะเมื่อมันไม่เที่ยง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้ว มันก็ต้องแตกดับ เช่น บ้านก็ต้องพัง คนเราก็ต้องตาย แม้โลกที่เราอยู่นี้ ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และสักวันหนึ่งก็ต้องทำลายลง
๓.อนัตตา ความไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของใครหาตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ เช่น ตัวเราจะบังคับไม่ให้แก่ ก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้ป่วยไข้ก็ไม่ได้ บ้านบังคับไม่ให้เก่า ก็ไม่ได้ แต่ตัวของเราถ้ามาแยกธาตุกันจริงๆ แล้ว ก็จะพบว่า ประกอบขึ้นด้วยเลือด เนื้อ กระดูก ฯลฯ เท่านั้น
หาตัวตนจริงๆ ไม่เจอ เป็นเพียงการประชุม แห่งธาตุ ประกอบกันขึ้นมาชั่วคราว พอตาย ธาตุต่างๆ ก็แยกสลาย ออกจากกันไม่มีตัวตน ที่แท้จริง