วาดมังกรแต้มนัยน์ตา
画龙点睛 ( 畫龍點睛 )
huà lóng diǎn jīng
สมัยราชวงศ์เหลียงในยุคราชวงศ์หนานเป่ยหรือเหนือใต้ มีจิตรกรคนหนึ่งที่ชำนาญวาดภาพมังกรชื่อจางเซิงเหยา ฝีมือในการวาดภาพมังกรของเขานั้นถึงขั้นยอดเยี่ยมเลิศล้ำที่สุด เรื่องมหัศจรรย์ที่สุดก็คือเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับการวาดมังกรแต้มตาของเขา.
ครั้งหนึ่ง จางเซิงเหยาวาดภาพมังกรสีขาวสี่ตัวบนกำแพงวัดอานตงเมืองจิงหลิง(ภูเขาชิงเหลียงเมืองนานกิงมณฑลเจียงซูในปัจจุบัน) เรื่องที่แปลกประหลาดก็คือ มังกรทั้งสี่ตัวนี้ล้วนไม่ได้แต้มนัยน์ตา ผู้คนจำนวนมากให้รู้สึกข้องใจ ถามเขาว่า"ท่านวาดมังกรเหตุไฉนไม่แต้มนัยน์ตา หรือว่าการแต้มตามังกรนั้นเป็นเรื่องยากมาก?"
จางเซิงเหยาตอบอย่างเอาจริงเอาจังว่า"การแต้มนัยน์ตาให้มังกรนั้นง่ายมาก แต่เมื่อแต้มเข้าไปแล้ว มังกรก็จะทะลายกำแพงบินหนีไป"
ทุกคนเมื่อได้ฟังคำตอบของเขาต่างไม่เชื่อ ต่างต้องการให้เขาแต้มตาให้มังกร ดูซิว่ามังกรบนกำแพงจะทะยานบินหนีไปอย่างที่เขาว่าหรือไม่ ดังนั้น เขาจึงได้แต่ถือพู่กันเริ่มแต้มนัยน์ตาให้มังกร.
และแล้วเรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น ขณะที่เขาเพิ่งแต้มตาให้กับมังกรตัวที่สองบนกำแพง ท้องฟ้ามืดครื้ม พลันเกิดฟ้าแลบแปลบปลาบ เสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าดังกึกก้องกัมปนาท และแล้วพายุฝนก็สาดเทลงมาอย่างหนัก ทุกคคนตกใจจนอกสั่นขวัญแขวน ได้ยินเสียงครืน กำแพงแถบนั้นพังทะลายลงทันที เมื่อเดินไปดูที่กำแพงอีกครั้ง มังกรสองตัวบนกำแพงที่ถูกแต้มนัยน์ตา บินหายไปจริงๆ ส่วนมังกรสีขาวอีกสองตัวที่ยังไม่ได้แต้มนัยน์ตานั้นยังคงอยู่บนกำแพง ทุกคนได้เห็นดังนี้ต่างรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาจางเซิงเหยายิ่ง.
คำเล่าลือแบบเทพนิยายนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องจริง เพียงเพื่อจะยกย่องชมเชยฝีมือการวาดภาพของจางเซิงเหยาเท่านั้น หรืออาจเป็นการสร้างเรื่องราวขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวของวัดอันเล่อ แต่ทว่า จากนิทานเรื่องนี้ทำให้เกิดสำนวน"วาดมังกรแต้มนัยน์ตา" ที่ภาษาจีนอ่านว่า" 画龙点睛 huà lóng diǎn jīng"( ฮว่า หลง เตี่ยน จิง)ซึ่งใช้มาอุปมาการพูดจา หรือการเขียนบทความ ถ้าสามารถใช้คำคมสักสองสามประโยคตรงใจความสำคัญของเรื่อง หรือมีการเกลาสำนวนให้เนื้อหาน่าอ่านมีชีวิตชีวา ประเด็นของเรื่องมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ก็จะกล่าวว่า"วาดมังกรแต้มนัยน์ตา