ลักษณะโรค
โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อ มียุงก้นปล่องเป็นพาหะเกิดจากเชื้อ Plasmodium ซึ่งเป็นสัตว์เซลเดียวอยู่ใน class Sporozoa มีวงจรของเชื้อระยะต่างๆ สลับกันคือ ระยะมีเพศและไม่มีเพศ และมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและยุง
สาเหตุ
เชื้อ Plasmodium ที่ก่อโรคในคนมี 4 ชนิด ได้แก่ P.falciparum, P.vivax, P.malariae และ P.ovale
วิธีการติดต่อ
เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียมีเชื้อมาลาเรียกัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรีย (sporozoite) จากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือดของคน จากนั้นเชื้อจะเดินทางไปที่ตับและเกิดการแบ่งเซลแบบไม่อาศัยเพศ ทำให้ได้ merozoite นับพันตัว จากนั้นเซลตับจะโตและแตกออกปล่อย merozoite ออกมาในกระแสเลือด ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรค คือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ สำหรับเชื้อ P.vivax และ P.ovale เชื้อบางส่วนยังคงอยู่ในเซลตับที่เรียกว่า "hypnozoite" ทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำ (relapse) ได้
หลังจากที่ merozoite เข้าสู่กระแสเลือด เชื้อจะเดินทางต่อไปยังเม็ดเลือดแดง และเจริญเป็น trophozoite และแบ่งตัวอีกครั้งเป็น merozoite 6-30 ตัว เมื่อเม็ดเลือดแดงแตก merozoite จะเดินทางไปยังเม็ดเลือดแดงอื่น แล้วเจริญแบ่งตัววนเวียนอยู่เช่นนี้ merozoite บางตัวจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเชื้อมีเพศ (gametocyte) เพศผู้เพศเมีย เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดคนที่มี gametocyte ในกระแสเลือด เชื้อเหล่านี้จะผสมพันธุ์กันเป็น zygote เจริญเป็น oocyst ฝังตัวที่กระเพาะยุง แล้วแบ่งตัวเป็น sporozoite ไปยังต่อมน้ำลายเพื่อรอการกัดของยุงอีกครั้ง
ระยะฟักตัว
- P.falciparum ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน
- P.vivax และ P.ovale ระยะฟักตัวประมาณ 8-14 วัน
- P.malariae ระยะฟักตัวประมาณ 18-40 วัน
ระยะติดต่อ
ยุงที่มากัดคนสามารถติดเชื้อได้ตลอดระยะเวลาที่คนนั้นมี gametocyte ในกระแสเลือด ในผู้ป่วย P.malariae ที่ได้รับการรักษาไม่เพียงพออาจจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ถึง 3 ปี หรือ 1-2 ปี ใน P.vivax และไม่เกิน 1 ปี ใน P.falciparum
อาการและอาการแสดง
อาการและอาการแสดงของมาลาเรียไม่มีลักษณะพิเศษบ่งเฉพาะ โดยมากจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัด คือ มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาการนี้จะเป็นเพียงระยะสั้น เป็นวัน หรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ ชนิดของเชื้อ จำนวนของ sporozoite ที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป ภาวะภูมิคุ้มกันต่อเชื้อมาลาเรียของผู้ป่วย ภาวะที่ผู้ป่วยได้รับยาป้องกันมาลาเรียมาก่อน หรือได้รับยารักษามาลาเรียมาบ้างแล้ว
อาการจับไข้ ซึ่งเป็นอาการที่เด่นชัดของมาลาเรียประกอบด้วย 3 ระยะคือ ระยะสั่น ระยะร้อน และระยะเหงื่อออก ปัจจุบันจะพบลักษณะทั้ง 3 ระยะได้น้อยมาก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยตลอดเวลา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นมาลาเรียครั้งแรก
การรักษา
แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
1. การรักษาจำเพาะ คือการให้ยา schizontocide กำจัดเชื้อมาลาเรียที่เป็น schizont ซึ่งเป็นระยะไร้เพศในเม็ดเลือดแดง การเลือกชนิดของยา schizontocide นั้น ควรพิจารณาประสิทธิภาพของยาต่อเชื้อมาลาเรีย ตามลักษณะการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ต่างๆ กัน
2. การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อน คือ การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ป่วยยังมีเชื้อมาลาเรีย หรือภายหลังที่เชื้อมาลาเรียหมดแล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรีย falciparum ถ้าได้รับการรักษาช้า จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
3. การป้องกันการแพร่โรค คือ การใช้ยา gametocytocide ฆ่าเชื้อมาลาเรียระยะติดต่อ คือ gametocyte โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อยู่ในท้องที่ที่มียุงพาหะ