ภาคกลาง นับได้ว่าเป็นภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าภาคอื่นๆ ถือได้ว่าภาคกลาง เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากสภาพทางภูมิประเทศที่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลอง หนอง บึงมากมาย จึงทำให้ภาคกลางเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศไมว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรม หรือปศุสัตว์ นอกนั้นจากในบางพื้นที่ของภาคกลางยังมีบางส่วนที่ติดกับทะเลจึงทำให้ภาคกลาง มีวัตถุดิบที่ใช้ในกาปรุงอาหารที่หลากหลาย Food of Central Plains Central Thailand
อาหารภาคกลาง
อาหารภาคกลาง เป็นประดิษฐ์กรรมทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติได้แก่ จีน อินเดีย เขมร พม่า เวียดนามและประเทศจากชาติตะวันตกที่ เข้ามานับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตัวอย่างได้แก่ อาหารประเภทแกงกะทิและเครื่องแกง ได้รับอิทธิพลมาจากชาวฮินดู การผัดโดยการใช้กระทะและน้ำมันมาจากประเทศจีน ขนมเบื้องไทย ดัดแปลงมาจากขนมเบื้องญวน ขนมหวานประเภททองหยิบ ทองหยอด ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศทางตะวันตกเป็นต้น ดังนั้นอาหารภาคกลางจึงเป็นอาหารที่มีความหลากหลายทั้งในด้านการปรุงและรสชาติ นอกจากนี้อาหารมักจะถูกประดิษฐ์ให้เป็นอาหารที่เลิศรส วิจิตรบรรจง ซึ่งได้รับวัฒนธรรมมาจากราชสำนัก ตัวอย่างอาหารเช่น ช่อม่วง จ่ามงกุฎ หรุ่ม ลูกชุบ กระเช้าสีดา ทองหยิบ ข้าวแช่ รวมทั้งการแกะสลักผักและผลไม้ได้อย่างวิจิตรเป็นต้น
คนไทยภาคกลางบริโภคข้าวเจ้าเป็นหลัก การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อจะจัดเป็นสำรับมีกับข้าวหลายอย่าง รสชาติอาหารภาคกลางมีการผสมผสานของหลาหลายรสชาติทั้งรสเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด เอกลักษณ์ของรสชาติอาหารไม่ได้เกิดจากเครื่องปรุงเพียงอย่างเดียว เช่น รสเปรี้ยวที่ใช้ปรุงอาหารอาจได้ทั้งจากมะนาว มะขาม มะกรูด ตะลิงปลิง ส้มแขก ผลไม้บางชนิด เช่น มะดัน มะม่วง เป็นต้น การใช้เครื่องปรุงรสเปรี้ยวที่แตกต่างกันจึงทำให้เกิดความหลากหลายใช้ชนิดของอาหารไทยภาคกลาง เช่น ต้มยำ ใช้มะนาวเพื่อให้รสเปรี้ยว แต่ต้มโคล้งใช้น้ำมะขามเปียกเพื่อให้รสเปรี้ยวแทน นอกจากนั้นยังมีรสเค็ม ที่ได้จากน้ำปลา กะปิ รสขม ที่ได้จากพืชชนิดต่างๆ เช่น มะระ เป็นต้นและความเผ็ดที่ได้จากพริก พริกไทยและเครื่องเทศ อาหารภาคกลางเป็นอาหารที่มีครบทุกรส ซึ่งอาหารไทยที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่รู้จักและนิยมบริโภคล้วนแต่เป็นอาหารภาคกลางทั้งนั้นไมว่าจะเป็น ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ผัดไทย พะแนง เป็นต้นจึงทำให้อาหารภาคกลาง มีความโดดเด่นเป็นพิเศษมากกว่าอาหารภาคอื่น