ในนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ตาอินกับตานา” ชายสองคนที่เคยเป็นเพื่อนรักกัน ประสานผลประโยชน์กันเสมอ หาปลามาได้ก็แบ่งปันกันกิน ต่อมาเกิดผิดใจกัน แย่งปลากันเอง ผลปรากฎว่า “ตาอยู่” ซึ่งเป็นคนนอก ก็สามารถชุบมือเปิบ ก็เอาปลาไปกินอย่างสบาย
สังคมไทย ก็รู้เรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด แต่ระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดความแตกแยกทางความคิดกันอย่างรุนแรง ระหว่างสังคมสองขั้ว สังคมสองกลุ่ม ระหว่างความฉ้อฉลกับความถูกต้อง ระหว่างผู้ได้รับข้อมูลข่าวสารกับผู้ถูกบิดเบือนข้อมูล ระหว่างประชานิยมกับความเป็นจริง ระหว่างอำนาจ กับประชาชนฝ่ายอำนาจมีประชาชนภาคชนบทเป็นฐานเสียง ในขณะที่ฝ่ายชนชั้นกลางก็มีมวลชนอีกกลุ่ม ที่มองเห็นความไม่ชอบมาพากลในการบริหารประเทศ การเผชิญหน้า ไม่มีทีท่าว่าจะลดราวาศอก
ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมีเงินเชื่อว่าอำนาจและเงิน จะสามารถสยบปัญหาได้ทุกสิ่ง อีกฝ่ายสู้เพื่อความถูกต้อง และต้องการชัยชนะเดี๋ยวนี่ ลงท้ายก็เกิดเงื่อนไข ถึงทางที่เดินก็ไม่ได้ ถอยก็ไม่ได้ เปิดช่องให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ สามารถอ้างความชอบธรรม เข้ามายึดอำนาจการปกครองประเทศหากมองในระยะสั้น จะรู้สึกว่าบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยลงแล้ว ไม่มีการวิพากย์วิจารณ์การเมือง ผู้คนไม่ต้องเผชิญหน้า ไม่ต้องมีการชุมนุมให้เกิดความเสียหาย แต่หากมองในระยะยาว ถึงการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทย ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ เริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญกันไม่สิ้นสุด
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยเสียเวลา เสียงบประมาณไปแล้วมากมาย กับการร่งรัฐธรรมนูญ
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายกว่านั้น คือเสียดายกระบวนการศึกษาที่ว่าด้วยการใช้เหตุผล กระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งกันทางความคิด ที่สังคมยังต้องฝึกการเคารพความเห็นที่ตรงข้าม การมีโอกาสพูด และการให้โอกาสผู้อื่นพูด