5. การเตรียมเส้นพุ่ง
5.1 การค้นเส้นพุ่ง
ใช้โฮงมัดหมี่แบบโบราณที่เป็นไม้มีหลัก 2 หลัก ขนาดของโฮงหมี่ หน้ากว้างของผืนผ้า และขนาดของฟืมทอผ้า จะมีความสัมพันธ์กัน นำเส้นไหมที่ลอกกาวแล้ว มาค้นเส้นพุ่ง การค้นแต่ละลายจะมีจำนวนลำไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับลาย เช่น ลายหมี่ข้อโบราณ ที่กำลังจะกล่าวในรายละเอียด ประกอบด้วยลายต่างๆ คือ ลายหมากจับ ลายขอ ลายขาเปีย ลายปราสาท จะมีจำนวนลำเท่ากับ 41 แต่ละลำมี 4 เส้น ทำการค้นเส้นพุ่งโดยการค้น 2 รอบต่อลำ แต่ละลำทำไพคั่นไว้โดยไพที่บริเวณกึ่งกลางของโฮงหมี่ เมื่อค้นเส้นพุ่งไปจนลำสุดท้าย คือลำที่ 41 ก็ให้ทำการค้นหมี่ย้อนถอยจากลำที่ 40 กลับมาสุดที่ลำที่ 1 การค้นครบ 1 รอบ คือ เท่ากับ 1 ขีน ในลายหมี่ข้อโบราณนี้ ทำการค้นหมี่ประมาณ 7 ขีน ทอผ้าได้ 1 ผืน ขนาดเส้นไหมที่ใช้คือ 150/200 ดีเนียร์ หรือประมาณเส้นไหมหนึ่ง(น้อย) ที่เกษตรกรสาวได้
เนื่องจากจำนวนขีนจะเปลี่ยนไปตามขนาดของเส้นไหมที่ใช้ ดังเช่นลายหมี่ข้อโบราณที่กล่าวมาแล้วใช้ขนาดเส้นไหม 150/200 ดีเนียร์ ค้นเส้นพุ่ง 7 ขีน ได้ผ้าไหม 1 ผืน หากใช้เส้นไหมขนาดเล็กกว่าจำนวนขีนก็จะเพิ่มขึ้น และหากเส้นไหมที่ใช้ขนาดใหญ่กว่าจำนวนขีนก็จะลดลง ทั้งนี้เนื่องจากขนาดของเส้นไหมจะมีความสัมพันธ์กับความยาวของของเส้นไหมโดยตรง เมื่อทำการค้นหมี่เสร็จเรียบร้อยแล้ว มัดหัวหมี่ทั้ง 2 ด้านตามลำที่ทำไพไว้ เพื่อเป็นการแบ่งเรียงเส้นไหมแต่ละลำให้เป็นระเบียบและให้ลายที่มัดไว้ต่อเนื่องและถูกต้อง
5.2 การมัดลวดลาย
ทำการมัดลายตามที่ออกแบบไว้ ส่วนใหญ่ลวดลายมัดหมี่โบราณจะประกอบด้วย 2 สีหลัก คือสีแดงและสีขาว แต่จะมีการเพิ่มสีสันในกระบวนการทอด้วยการทอสอดเส้นไหมแบบค้ำเพลาในการคั่นลวดลายบนผืนผ้า ปัจจุบันการมัดลายหมี่จะใช้เชือกฟาง เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนการผลิต
ในสมัยโบราณการทำผ้าไหมมัดหมี่จะมีความพิถีพิถันและเป็นธรรมชาติจริงๆ การมัดลายจะใช้เชือกจากกาบต้นกล้วยพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า พันธุ์กล้วยนวล ลักษณะพิเศษ คือโคนลำต้นใหญ่ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยหน่อได้ ปัจจุบันยังคงมีตามหมู่บ้านที่มีการทอผ้า
ในสมัยโบราณผู้ทอผ้าไหมมัดหมี่ จะต้องทำเชือกกล้วยนวลโดยการนำเอากาบของต้นมาลอกแต่ส่วนที่เป็นเปลือกด้านนอก ทำการฉีกเป็นเส้นเล็ก นำไปตากแดดจนแห้งเชือกกล้วยที่ได้มีความเหนียวมาก จึงทำให้นำมามัดลายหมี่ได้ การมัดลายเริ่มต้นด้วยการมัดเก็บสีขาว ด้วยลวดลายหมากจับ ซึ่งเป็นที่นิยมมากเพราะเป็นลวดลายเล็กๆ จากนั้นจึงมัดลายหมี่ข้อเป็นระยะๆ มัดลายขอ ตามด้วยลายขาเปีย และลายปราสาทหรือเรียกอีกชื่อว่าลายเสา รวมเป็น 5 ลาย ซึ่งในการมัดลายสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การมัดลายทุกลายในหัวหมี่เดียวกัน หรือทำการมัดแยกแต่ละลายในแต่ละหัวหมี่ก็ได้ แล้วมาต่อลายในขั้นตอนการทอผ้า
5.3 การย้อมสีหัวหมี่ที่มัดลายเรียบร้อยแล้ว
นำหัวหมี่ที่มัดลายไปย้อมสีด้วยสีแดงจากครั่งที่ได้เตรียมไว้แล้ว โดยทำการย้อมเย็นก่อนเพื่อให้น้ำสีแทรกซึมเข้าไปในเส้นไหมอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งหัวหมี่ แล้วนำไปตั้งเตาเพิ่มความร้อนให้น้ำย้อมสีจนกระทั่ง 90 องศาเซลเซียส ประมาณ 30 นาที แล้วจึงมาล้างสีด้วยน้ำสะอาดจนน้ำที่ใช้ล้างสีใส ไม่มีสีเจือปนอยู่ บีบให้แห้ง นำไปตากผึ่งให้แห้ง ทำการแกะเชือกมัดลายออก ก็จะได้ลวดลายมัดหมี่จำนวน 2 สี คือ สีแดง กับ สีขาว
5.4 การปั่นเส้นไหมจากเข้าหลอด
ให้นำหัวหมี่ที่แกะเชือดฟางออกเรียบร้อยแล้วใส่ในกง ทำการกรอเส้นไหมเข้าอัก จากนั้นจึงทำการปั่นเส้นไหมจากอักเข้าหลอดด้วยไน นำหลอดเส้นไหมไปร้อยเรียงใส่ในเชือดตามลำดับเพื่อให้การเรียงลวดลายถูกต้อง