ประวัติ / ความเป็นมา
ประเพณีเข้าอินทขิล คือการทำพิธีสักการะบูชาเสาหลักเมือง คำว่า"เสาอินทขิล" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2525 ว่า "อินทขีล" น. (คำนาม) แปลว่า เสา หรือ หลักหน้าประตูเมือง , หลักเมือง เสาเขื่อน
เสาอินทขีล ซึ่งเป็นหลักเมืองของนครเชียงใหม่นี้ตั้งอยู่ภายในวัดหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดนี้เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา ซึ่งเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์มังราย
พระองค์ได้ทรงสร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 1955 หรือเมื่อประมาณ 600 ปีมาแล้ว เสาอินทขีลนี้ตั้งอยู่ในมณฑปจตุรมุขวิหารทางด้านทิศใต้ เสานี้ก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับลวดลายสวยงาม ทรงแปดเหลี่ยม หกเหลี่ยม และสี่เหลี่ยมซ้อนกัน และตอนปลายเป็นปราสาทยอดสูงตั้งไว้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเสาอินทขีลแต่เดิมประดิษฐานที่วัดสะดือเมือง หรือเรียกว่า วัดอินทขีล ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งหอประชุมติโลกราช อยู่บริเวณข้างศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
ครั้นต่อมาถึงรัชสมัยที่พระเจ้ากาวิละได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ก็ได้ย้ายเสาอินทขีลมาอยู่ในบริเวณวัดเจดีย์หลวงดังกล่าว และได้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2343
เสาอินทขีลนี้ นอกจากจะเป็นเสาหลักเมืองแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่และยังเป็นที่สักการะบูชา ถือว่าเป็นที่รวมของวิญญาณของคยเมืองเหนือและบรรพบุรุษ จึงถูกยกย่องเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง
ความเป็นมาของเสาอินทขีล ในหนังสือประเพณีไทยภาคเหนือ ของสงวน โชติสุขรัตน์ ซึ่งได้อ้างถึงหนังสือตำนานสุวรรณคำแดง โดย (พระมหาหมั่น) วัดเจดีย์หลวง ได้เป็นผู้แปลจากอักษรแบบไทยเหนือโบราณที่เรียกกันว่า "ตัวหนังสือเมือง" มีข้อความดังนี้
ในอดีตกาลเมืองเชียงใหม่ได้เป็นที่อยู่ของพวกลั้วะ หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นพวกละว้า บรรดาพวกที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้น ได้ถูกบรรดาผีร้ายอาละวาดรบกวนต่างๆ นานา ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง
พระอินทร์เมื่อทรงเล็งทิพย์เนตร และได้ทราบว่าชาวลั้วะในนครเชียงใหม่ได้รับความเดือดร้อนมาก ดังนั้นจึงเกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจ คิดหาวิธีที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยบอกให้ชาวเมืองพากันถือศีลถือสัตย์ บ้านเมืองจะผ่านพ้นจากอันตรายไปได้ ชาวเมืองก็ให้ความเชื่อถือและปฏิบัติตามนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำแนะนำเป็นต้นมา เมื่อพระอินทร์ทรงเห็นว่าชาวเมืองนครเชียงใหม่ถือศีลและสัจจะดีแล้วก็บันดาลให้เกิดมีบ่อแก้ว บ่อเงิน และบ่อทอง เกิดขึ้นในเมือง แล้วให้บรรดาชาวเมืองเหล่านั้น อธิษฐานขอเอาตามความปรารถนา
ใ นสมัยนั้น ชาวเมืองในนครเชียงใหม่ ได้แบ่งออกเป็นตระกูลใหญ่ 9 ตระกูลด้วยกัน พวกลั้วะในนครเชียงใหม่ทั้ง 9 ตระกูลดังกล่าว ก็จัดแบ่งพวกออกเป็น 3 หมู่ หมู่ละ 3 ตระกูล เป็นผู้คอยให้ความอารักขาคุ้มครอง บ่อแก้ว บ่อเงิน และบ่อทองนั้น จึงพากันเรียกเมืองดังกล่าวนี้ว่า "นพบุรี"
ต่อมาพวกลั้วะทั้ง 9 ตระกูลได้สร้างเวียงสวนดอกขึ้นมาอีกและอาศัยอยู่ในเมืองสวนดอกด้วยความผาสุขตลอดมา ทั้งนี้เพราะเหตุว่าได้เกิดมีบ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้ว อันเป็นของทิพย์ เกิดขึ้นในบ้านเมืองของตน อันเป็นเหตุให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข และมีความอุดมสมบูรณ์ดี
ต่อจากนั้นข่าวความอุดมสมบูรณ์ของเมืองนพบุรีที่มีบ่อแก้ว บ่อเงิน บ่อทอง เกิดขึ้นก็ถูกนำไปกล่าวขวัญและเลื่องลือไปยังหัวเมืองต่างๆ ทั้งใกล้เคียงและที่อยู่ห่างไกล
บรรดาหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงนครเชียงใหม่ และที่อยู่ไกลออกไป เมื่อได้ข่าวว่านครเชียงใหม่เกิดมีบ่อทิพย์ ขึ้นเป็นอัศจรรย์ ดังนั้นด้วยความโลภ อยากได้ และใคร่จะชิงเอาบ่อทิพย์ทั้ง 3 มาเป็นสมบัติของตน จึงต่างกรีฑาทัพใหญ่ด้วยมุ่งที่จะชิงเอาบ่อทั้ง 3 บ่อที่เกิดในนครเชียงใหม่ในสมัยนั้นเสีย
พวกชาวเมืองเมื่อต่างคนต่างได้ข่าวศึก จึงเกิดความหวาดกลัวก็ได้นำเอาความนี้ไปขอร้องฤาษีที่มาจำศีลภาวนาอยู่ ณ เมืองนั้น ช่วยเหลือ ฤาษีจึงได้นำความไปกราบทูลให้พระอินทร์ทรงทราบและขอความช่วยเหลือ
พระอินทร์จึงเรียกยักษ์กุมภัณฑ์ 2 ตนมา แล้วสั่งให้ขุดเอาเสาอินทขีลเล่มที่อยู่ตรงกลางบนสวรรค์ใส่สะแหรก (สาแหรก) เหล็ก แล้วมีพระบัญชาให้ยักษ์กุมภัณฑ์ทั้ง 2 ตนนั้น หาบลงไปฝังไว้ที่ใจกลางเมืองมนุษย์ที่มีชื่อว่า "นพบุรี"
ด้วยเดชของพระอินทร์ และด้วยอำนาจของเสาอินทขีล จึงบันดาลให้ข้าศึกที่ยกกองทัพใหญ่มาประชิดเมืองกลายร่างเป็นพ่อค้าไปจนหมดสิ้น แล้วพากันเข้าไปในเมือง ซึ่งยังมีความอยากได้แก้วแหวนเงินทองอยู่ แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติบูชาอย่างที่ถูกที่ควร จึงทำให้ยักษ์กุมภัณฑ์ไม่พอใจ จึงช่วยกันหามเสาอินทขีลนั้นกลับเมืองสวรรค์เสีย
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา บ่อทิพย์ ทั้ง 3 จึงได้เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ไปคนพวกนั้นจะไปบูชาเพื่อขอสิ่งอื่นใดอีกก็ไม่ได้ พวกพ่อค้าเหล่านั้นจึงขาดลาภและพากันกลับไปบ้านเมืองของตน
ครั้งนั้น ปรากฏมีชาวลั้วะเฒ่าคนหนึ่งได้เคยไปสักการะบูชาเสาอินทขีล (อันก่อน) อยู่มาวันหนึ่งก็ได้จัดการแต่งดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อไปบูชาเสาอินทขีลนั้น เมื่อได้ทราบว่ายักษ์ 2 ตน เกิดโมโหบรรดาพ่อค้าต่างเมือง และยกหนีขึ้นสู่สวรรค์เสียแล้ว จึงเกิดความเศร้าโศก และรู้สึกเสียใจเป็นอันมากจนถึงกับละจากเพศบรรพชิตมาถือบวชชีปะขาวเสีย แล้วถือบำเพ็ญภาวนาอยู่ใต้ต้นยาง อันที่ใกล้เคียงกับที่สถิตเสาอินทขีล นั้นนับเป็นเวลา 2 ปี ก็บังเกิดมีเถระเจ้าองค์หนึ่ง จาริกแสวงบุญมาแต่หิมพานต์ ได้ให้คำทำนายว่า ต่อไปบ้านเมืองจะถึงแห่งกาลวิบัติ พวก ลั้วะได้ยินดังนั้นจึงเกิดความเกรงกลัวเป็นอันมาก จึงขอร้องในพระเถระเจ้าองค์นั้นทำการช่วยเหลือ เพื่อให้พ้นจากภัยวิบัติดังกล่าวนั้นเสีย ซึ่งพระเถระก็รับปากว่าจะช่วยเหลือ แล้วจึงได้เดินทางสู่สวรรค์ เพื่อร้องขอความช่วยเหลือจากพระอินทร์อีก
พระอินทร์จึงทรงรับสั่งว่า ให้จัดแจงหล่ออ่างทอง (กระทะที่ทำด้วยเหล็กผสมคล้ายเหล็กหล่อ) ให้มีความหนา 6 นิ้วมือขวาง กว้าง 4 ศอก เสร็จแล้วให้ขุดหลุมลึกลงไป 8 ศอก กับให้ปั้นรูปสัตว์ทุกๆอย่างที่มีอยู่บนโลกนี้ทั้งหมดอย่างละ 1 คู่ แล้วให้ปั้นรูปช้างคู่หนึ่ง ปั้นรูปม้าคู่หนึ่ง กับ