บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าการประชุมยอดผู้นำประเทศเกิดใหม่ หรือ BRICS Summit ครั้งที่ 6 ในวันที่ 15-16 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่เมืองฟอร์ทาเล ประเทศบราซิล เป็นอีกงานสำคัญภายหลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขันมหกรรมฟุตบอลโลก โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการรวมตัวของแกนนำเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคของโลก และการประชุมกลุ่มบริกส์ (BRICS) ในครั้งนี้สะท้อนความมั่นคงของกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในเวทีโลก
โดยผลการประชุมวันแรกได้ข้อสรุปจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนา วงเงินลงทุนเบื้องต้น 50,000 ล้านดอลลาร์ฯ ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนเงินสำรองอัตราแลกเปลี่ยนมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกในกรณีเกิดวิกฤติ ซึ่งขนาดเงินกองทุนดังกล่าวอาจเทียบได้ว่าเป็น “มินิ ไอเอ็มเอฟ” เลยทีเดียว ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะเพิ่มบทบาททางการเงินของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ให้มีความโดดเด่นมากขึ้น และเข้ามาเสริมกับแนวทางการดำเนินงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก
การกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกในกลุ่มเอื้อประโยชน์ต่อไทยโดยอ้อมผ่านเครือข่ายการค้าการลงทุนของไทยในต่างประเทศให้เติบโตในอนาคต โดยบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในปี 2557 นี้ เศรษฐกิจกลุ่มบริกส์จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.4 แม้จะเติบโตช้าลงจากในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็เป็นการเติบโตที่ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในกรณีที่เศรษฐกิจกลุ่มบริกส์มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ก็น่าจะเป็นแรงหนุนการส่งออกของไทยไปยังตลาดกลุ่มบริกส์พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ โดยการส่งออกของไทยไปตลาดบริกส์โดยรวมทั้งปี 2557 อาจมีมูลค่าแตะ 39,000 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 1.5.