ประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ วัดติโลกอาราม จังหวัดพะเยา
“ใจกลางกว๊านพะเยา ซากโบราณสถาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดติโลกอาราม ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช แห่งอาณาจักรล้านนา ได้ปรากฏเค้าโครงแห่งการบูรณะ และก่อร่างรูปแบบประเพณีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ในประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ ทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา”
วัดติโลกอาราม เป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่จมอยู่ในกว๊านพะเยา เป็นวัดที่พระเจ้าติโลกราชแห่งราชอาณาจักรล้านนา โปรดให้พระยายุทธิษถิระ เจ้าเมืองพะเยา สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๐๑๙ – ๒๐๒๙ ในบริเวณที่เรียกว่า บวกสี่แจ้ง วัดแห่งนี้เป็นชื่อวัดที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ซึ่งถูกค้นพบได้ในวัดร้างกลางกว๊านพะเยา หรือในบริเวณหนองเต่า จากข้อความที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ทำให้รู้ว่าวัดนี้มีอายุเก่าแก่มากกว่า ๕๐๐ ปี สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวัดที่มีผู้ปกครองเมืองพะเยาได้สร้างถวายเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่พระเจ้าติโลกราช ในฐานะทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรล้านนา
วัดติโลกอารามจมอยู่ในกว๊านพะเยาเนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ กรมประมงสร้างประตูกั้นน้ำในกว๊านพะเยาเพื่อกักเก็บน้ำ จึงทำให้บริเวณที่เป็นกว๊านพะเยาที่แต่เดิมเป็นชุมชนโบราณ และมีวัดอยู่เป็นจำนวนมากต้องจมน้ำ
ในอดีตพื้นที่กว๊านพะเยาเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากเทือกเขา ไหลลงมาเป็นลำห้วย ลำธาร แม่น้ำ และกลายเป็นหนองน้ำเล็ก ใหญ่ ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน ของทุกปี ปริมาณน้ำจะลดลง ทำให้ชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์และเป็นเส้นทางสัญจรไปมาระหว่างตัวเมืองกับหมู่บ้านรอบๆ กว๊านพะเยา และเมื่อหลายร้อยปีมานั้นพื้นที่ในบริเวณของกว๊านพะเยาจะเป็นชุมชนหมู่บ้าน มีวัดวาอารามอยู่หลายวัด และวัดติโลกอารามเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่จมอยู่ในกว๊านพะเยา
ประเพณีเวียนเทียนที่วัดติโลกอาราม มีความแตกต่างจากการเวียนเทียนในวัดอื่นๆ คือ วัดติโลกอารามจะเวียนเทียนโดยการนั่งเรือเวียนเทียนรอบวัดซึ่งตั้งอยู่กลางน้ำ โดยในแต่ละปีจะมีการเวียนเทียน ๓ ครั้ง คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา
- วันเวลาจัดงาน : วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา
- สถานที่จัดงาน : วัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยา