๑) กลุ่มวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (ไทย-ลาว-เขมร-พม่า-เวียดนาม)
ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นเป็นที่อยู่อาศัยของหลายชุมชนที่มีอาณาเขตติดต่อกันหลายประเทศนับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญซึ่งมีประเพณี ดนตรี วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม ทั้งที่มีความคล้ายคลึงและแตกต่าง ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งมีการไปมาหาสู่ มีการค้าขาย และกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ส่งผลให้วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ มีทั้งที่แสดงออกถึงลักษณะเฉพาะของตนเอง ขณะที่มีความคล้ายคลึงในบางส่วนของการดำเนินวิถีชีวิต กล่าวได้ว่าไทย-ลาว-กัมพูชามีรากวัฒนธรรมเดียวกัน จึงมีความพ้องของวัฒนธรรมมากกว่าพม่าและเวียดนามซึ่งได้รับอิทธิพลจากจีน ในที่นี้ ขอหยิบยกตัวอย่างมรดกร่วมทางวัฒนธรรมในภูมิภาคที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่
- ด้านภาษา (ไทย-ลาว-เขมร) ที่มีตัวอักษร คำที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน โดยได้รับอิทธิพลมาจากภาษาสันสกฤต โดยคนไทย ลาว เขมร สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ อย่างไรก็ดี ภาษาเขมรมีความแตกต่างจากภาษาเพื่อนบ้าน เนื่องจากไม่มีเสียงวรรณยุกต์
- ด้านการแสดงรามเกียรติ์ เป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของอาเซียน ต้นเค้าของเรื่องรามเกียรติ์น่าจะมาจากเรื่อง รามายณะ ของอินเดีย ซึ่งเป็นนิทานที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ ต่อมาอารยธรรมอินเดียได้แพร่หลายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เรื่องรามายณะแพร่หลายไปทั่วภูมิภาค ได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นจนกลายเป็นวรรณคดีประจำชาติไป ดังปรากฏในหลาย ๆ ชาติ เช่น ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ล้วนมีวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เป็นวรรณคดีประจำชาติทั้งสิ้น
- ด้านนาฏศิลป์-ดนตรี การแสดงรำของไทย ลาว เขมรมีความคล้ายคลึงกัน รวมทั้ง เครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกัน แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรมประเพณีของประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ และลักษณะการประกอบอาชีพที่เป็นเกษตรกรรม ส่งผลต่อวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในแถบใกล้เคียงกัน
- ด้านประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย และเป็นประเพณีเก่าแก่ซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่า "ตรุษ” เป็นภาษาทมิฬ แปลว่า "การสิ้นปี”
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเย็น ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข
๒) กลุ่มวัฒนธรรม มาเลเซีย-อินโดนีเซีย-บรูไน ดารุสซาลาม-สิงคโปร์
เป็นกลุ่มประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีประชาชนส่วนหนึ่งนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และฮินดูด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ดังนั้น วัฒนธรรมประเพณี ศิลปะ การแสดง จะมีความคล้ายคลึงกัน ในขณะที่สิงคโปร์เป็นสังคมผสมผสานระหว่างจีน-มาเลย์-อินเดีย ดังนั้น จึงมีความหลากหลายของวัฒนธรรม ตัวอย่างของมรดกวัฒนธรรมร่วมในกลุ่มนี้ ได้แก่
- การใช้ภาษามาเลย์ (หรือมลายู) ในชุมชนภาคใต้ของไทย และภาษามาเลย์ ยังสามารถสื่อสารเข้าใจได้กับภาษาอินโดนีเซีย มาตรฐานอย่างเป็นทางการของภาษามลายูนั้น มีการตกลงร่วมกันระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ว่าใช้บาฮาซารีเยา (Bahasa Riau) เป็นมาตรฐาน อันเป็นภาษาของหมู่เกาะรีเยา ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดของภาษามลายูมาช้านาน
- การแต่งกาย ชุมชนที่นับถือศาสนาอิสลามจะแต่งกายคล้ายคลึงกัน เช่น กลุ่มคนภาคใต้ตอนล่าง ประชาชนชาวมาเลเซีย อินโดนีเซีย
- การแสดง หนังตะลุงหรือ Wayang ซึ่งหมายถึง ศิลปะการเชิดหนังหรือหุ่นเป็นสิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมร่วมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น ไทย อินโดนีเซีย หนังตะลุงมีต้นกำเนิดมาจากเกาะชวา อินโดนีเซีย แล้วแพร่หลายไปที่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ตลอดหลายร้อยปี ที่ผ่านมา หนังตะลุงได้รับความนิยมในราชสำนักชวา บาหลี และรวมถึงชาวบ้านทั่วไป หนังตะลุงจากทุกที่จะต่างกันด้วยขนาดรูปร่างและรูปแบบ แต่จะมีความเหมือนกันคือจะทำจากหนังวัวและมีคันชัก และเล่นประกอบดนตรีเครื่องทองเหลืองเช่น ฆ้อง
- ขณะที่สิงคโปร์มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ อีกทั้งส่วนใหญ่ยังยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม ทำให้สิงคโปร์มีวัฒนธรรมหลากหลาย ทั้งทางด้านอาหาร การแต่งกาย ตลอดจนการเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ และความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าที่แตกต่างกันไป ชาวจีนส่วนมากบูชาเจ้าแม่กวนอิม กวนอูเทพเจ้าแห่งความยุติธรรม รวมถึงเทพเจ้าจีนองค์อื่น ๆ ขณะที่ชาวฮินดูบูชาเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ เป็นต้น
๓) กลุ่มวัฒนธรรม ฟิลิปปินส์
ถึงแม้ว่า ภูมิประเทศของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จะมีความคล้ายคลึงกันแต่วัฒนธรรมของฟิลิปปินส์เป็นการผสมผสานกันระหว่างตะวันตกและตะวันออก ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ที่ได้รับอิทธิพลจากสเปน ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมมาเป็นระยะเวลานาน ในขณะเดียวกันก็ได้ผสานวัฒนธรรมพื้นเมือง ตัวอย่างของมรดกวัฒนธรรมกลุ่มนี้
- ด้านภาษา มีการใช้ภาษามากกว่า ๑๗๐ ภาษา โดยส่วนมากเกือบทั้งหมดนั้นเป็นตระกูลภาษาย่อยมาลาโย-โปลินีเซียนตะวันตก ส่วนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ที่ใช้กันมากในประเทศฟิลิปปินส์มีทั้งหมด ๘ ภาษา ได้แก่ ภาษาสเปน ภาษาจีนฮกเกี้ยน ภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาซินด์ ภาษาปัญจาบ ภาษาเกาหลี และภาษาอาหรับ
- ด้านการแสดง นาฏศิลป์ดนตรี สเปนเป็นชาติตะวันตกชาติหนึ่งที่มายึดครองดินแดนในเอเชียเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ และสเปนพยายามสร้างฟิลิปปินส์ ซึ่งมีชาวพื้นเมืองเดิมเป็นชาวเกาะที่นับถือศาสนาอิสลามให้เป็นตัวแทนของ