การพัฒนาท้องถิ่น
ถึงแม้ว่าท้องถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ แต่ท้องถิ่นกลับได้รับความสำคัญค่อนข้างน้อย ซึ่งเป็นผลจากกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมที่เน้นการพัฒนาในเขตเมืองแต่ละเลยชนบท ทำให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้น และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา ทิศทางการพัฒนาที่ผ่านมาทำให้ความเจริญกระจุกตัวในเขตเมืองมากขึ้น เพราะทุกคนต่างมุ่งเป้าหมายไปยังแหล่งที่ตนสามารถสร้างรายได้หรือผลกำไรได้มากที่สุด โดยเฉพาะการอพยพเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตัวเมืองใหญ่เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากไปสู่เมืองใหญ่ ขณะที่ท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยกว่ามาก โครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจแบบกระจุกตัว ทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายในการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบหรือมีศักยภาพในการพัฒนาท้องถิ่นไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาท้องถิ่น ท้องถิ่นส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน ปัญหาการขาดกำลังคนเพราะไม่สามารถดึงคนเก่งหรือคนที่มีความสามารถให้อยู่ในท้องถิ่นได้ การปกครองท้องถิ่นของไทยยังมีปัญหาบุคลากรหรือข้าราชการที่ส่งไปปฏิบัติหน้าที่ ไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณไปสู่ท้องถิ่นมีความจำกัด ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาการทุจริตในระดับท้องถิ่นยังมีความรุนแรงไม่ต่างจากการเมืองระดับชาติ เนื่องจากผู้ที่เข้ามาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นมีเป้าหมายเพื่อใช้อำนาจในการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent seeking) การริเริ่มโครงการต่างๆ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง โดยมิได้คำนึงถึงความจำเป็น ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ในขณะที่การตรวจสอบภายในท้องถิ่นยังขาดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ผลจากการแพร่กระจายของวัฒนธรรมต่างประเทศและความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลาเกือบสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมไทย การรับวัฒนธรรมต่างชาติโดยไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิต และมีการรับค่านิยมและแนวการปฏิบัติที่อาจไม่เหมาะสม วัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามและหลากหลายในสังคมสูญหายไป หรืออาจถูกบิดเบือนไปจากหลักการดั้งเดิมที่ดี รวมทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นอาจถูกละเลยหรือไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนท้องถิ่นได้