เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าปราสาททอง เรื่องนี้กรมศิลปากรได้จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๓๑ คัดและถ่ายทอดโดย นายเกษียร มะปะโม นักภาษาโบราณกองหอสมุดแห่งชาติ เรื่องนี้มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า พระมหาราชครูมเหธร ประพันธ์ขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๐๐-๒๒๓๐ เป็นคำฉันท์ เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระประวัติพระเจ้าปราสาททอง ตั้งแต่ประสูติ เสวยราชสมบัติ โปรดให้ลบศักราช การทำนุบำรุงบ้านเมือง และสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับต่างประเทศ เป็นเอกสารที่มีค่ามากเล่มหนึ่งทางประวัติศาสตร์
เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว วรรณกรรมกรุงศรีอยุธยาก็ซบเซาไป ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ (สมเด็จพระสรรเพ็ชญที่ ๙) มี โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ บรรยายการชะลอเลื่อนองค์พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารริมน้ำตลิ่งถูกเซาะใกล้จะพังลง ให้พ้นแล้วสร้างพระวิหารใหม่ แต่งเป็นโคลง ๖๙ บท บรรยายการชะลอเลื่อนพระพุทธรูปขนาดใหญ่ได้สำเร็จ ซึ่งแสดงถึงความสามารถในทางช่างของคนไทยสมัยนั้น
ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ยังมีเรื่อง โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย ซึ่งเจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงพระนิพนธ์ เป็นโคลงสี่สุภาพ ๒๕ บท เล่าเรื่องการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปลพบุรี
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ วงกวีได้รุ่งเรืองขึ้นอีกวาระหนึ่ง กวีเอกของยุคนี้ ได้แก่ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นพระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ได้ทรงพระนิพนธ์บทกวีไว้หลายเรื่องหลายแบบ ซึ่งล้วนมีคุณค่าในทางวรรณคดี ได้แก่ นันโทปนันทสูตรคำหลวง นันโทปนันทสูตร เป็นสูตรหนึ่งในคัมภีร์ทีฆนิกาย เป็นภาษาบาลี เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ได้ทรงพระนิพนธ์เป็นภาษาไทย เนื้อความกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงส่งพระโมคคัลลานเถระไปทรมาน “นันทนาคราช”ให้พ้นจากมิจฉาทิฐิ มาตั้งอยู่ในสัมมาทิฐิ