เริ่มต้นสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1179-1276) ทางภาคใต้ของจีนมีคณะงิ้วที่มีชื่อได้เปิดการแสดงที่มีบทพูดเป็นโคลงกลอนสลับการร้อง ใช้วงเครื่องดีดสีตีเป่าประกอบการแสดง
ทางภาคเหนือนั้น ราวช่วงต้นศตวรรษที่ 13 ในสมัยราชวงศ์หยวนเกิดรูปแบบของงิ้วขึ้นมาเรียกว่า "จ๋าจวี้" 杂剧/雜劇 โดยมักแบ่งการแสดงออกเป็น 4 องค์ โดยตัวละครเอกเท่านั้น ที่จะมีบทร้องเป็นทำนองเดียวตลอดเรื่อง ส่วนตัวประกอบอื่นอาศัยการพูดประกอบ ขณะที่อุปรากรฝ่ายเหนือเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางชั้นสูงเรื่องราวที่แสดงจึงมักดัดแปลงมาจากพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์ ส่วนทางใต้นั้นผู้คนนิยมดูงิ้วที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องเล่าพื้นบ้าน
ในศตวรรษที่ 16 บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบ ผู้คนเริ่มมีฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้วงการวรรณกรรมเฟื่องฟูไปด้วย ซึ่งส่งผลทำให้บทร้องอุปราการสละสลวยยิ่งขึ้น โดยนายเว่ย เหลียงฝู่ 魏良辅 /魏良輔 (1522-1573) นำนิยายพื้นบ้านดังๆเรียกว่า "คุนฉวี่" 昆曲 มาเขียนเป็นบทร้อง มีสไตล์การร้องที่อ่อนหวาน ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้นส่วนใหญ่คือกลองและขลุ่ยไม้
ในศตวรรษที่ 18 เกิดอุปรากรแบบใหม่ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบของงิ้วปัจจุบัน อุปรากรดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายนับตั้งแต่เปิดการแสดงในงานฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของเฉียนหลงฮ่องเต้ (1736-1796) ในจำนวนคณะงิ้วที่เข้ามาแสดงเหล่านี้รวมถึงคณะของนายเว่ย จางเฉิน จากเสฉวน ซึ่งนำเทคนิคการแสดงงิ้งแบบใหม่ๆเข้ามาเผยแพร่ในเมืองหลวงกระทั่งปลายราชวงศ์ชิง งิ้วจึงมีลักษณะต่างๆกันออกไปหลายร้อยแบบ ทั้งในด้านการร้อง การจัดฉาก เพลง แต่ส่วนใหญ่นำเนื้อเรื่องมาจากคุนฉวี่ หรือนิยายที่เป็นที่นิยมนั่นเอง
สมัยของพระนางซูสีไทเฮา การแสดงงิ้วในเมืองจีนถือว่าได้รับความนิยมสูงสุด จนกระทั่งสิ้นสมัยของพระนาง คณะงิ้วที่เคยได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากราชสำนักและขุนนางต่างๆ ก็ต้องหันมาพึ่งตัวเองและแพร่ขยายออกไปสู่ผู้คนทั่วไปมากขึ้น