ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ เป็นศาลศาสนาฮินดูตั้งอยู่หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ประวัติการกำเนิดศาล เมื่อ พ.ศ. 2494 พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ
ว่ากันว่าในช่วงแรกของการก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ปลายปี พ.ศ. 2499 ทาง บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมได้ติดต่อ พลเรือตรีหลวงสุวิชาน นายแพทย์ใหญ่กองทัพเรือ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโหราศาสตร์ เข้าดำเนินการหาฤกษ์วันเปิดโรงแรม
พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ได้ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม "เอราวัณ" นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจากพระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม
จึงได้มีการตั้งศาลพระพรหม ออกแบบตัวศาลโดยนายระวี ชมเสรี และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล องค์ท้าวมหาพรหมปั้นด้วยปูนพลาสเตอร์ปิดทอง ออกแบบและปั้นโดยนายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และอัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ตามแผนงานครั้งแรก องค์ท้าวมหาพรหมจะเป็นโลหะหล่อสีทอง แต่เนื่องจากระยะเวลาจำกัดด้วยฤกษ์การเปิดโรงแรม จึงได้เปลี่ยนวัสดุเป็นปูนปั้นปิดทองแทน