4. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1) งานวิจัยในประเทศ
สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวกับพฤติกรรมบทบาทสมมติในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษภายในประเทศนั้น มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
จุฑารัตน์ ธานี (2534) ศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษทักษะฟัง - พูด เพื่อการสื่อสารและความเข้าใจในวัฒนธรรมทางภาษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนด้วยเทคนิคบทบาทสมมติกับการสอนตามคู่มือครู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการใช้ทักษะพูด และความเข้าใจในวัฒนธรรมภาษาระหว่างนักเรียนที่ได้รับการสอนด้วยเทคนิคบทบาทสมมติกับนักเรียนที่ได้รับการสอนตามคู่มือครู ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนได้รับการสอนด้วยเทคนิคบทบาทสมมติมีความสามารถในการใช้ทักษะฟัง-พูด และมีความเข้าใจในวัฒนธรรมทางภาษาสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนตามคู่มือครู
สายใจ สินสมบูรณ์ (2536) ได้ศึกษาผลของเกมและบทบาทสมมติในชั้นเรียนที่มีผลต่อความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดยะลา พบว่า ความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนโดยใช้แบบเกมกิจกรรมเรียงภาพการ์ตูนประกอบเรื่อง เรียนโดยใช้กิจกรรมบทบาทสมมติ และนักเรียนที่เรียนโดยใช้วิธีสอนแบบธรรมดาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ .01 โดยนักเรียนที่เรียนโดยใช้กิจกรรมบทบาทสมมติมีความเข้าใจในการอ่านภาษาอังกฤษสูงกว่านักเรียนที่เรียนแบบธรรมดาและเรียนโดยใช้เกม
วิษณุ เยาวนิจ (2542) ได้เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษด้านการฟังและพูดโดยใช้กิจกรรมบทบาทสมมติและการสอนตามคู่มือครูของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนชุมชนเชียงใหม่พัฒนา สำนักงานการศึกษาอำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 34 คน พบว่า นักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้กิจกรรมบทบาทสมมติและการสอนตามคู่มือครูมีผลสัมฤทธิ์ด้นการฟังและพูดไม่แตกต่างกัน
สุกัญญา ศิลปะสารท (2543) ได้ศึกษาผลการใช้กิจกรรมบทบาทสมมติในการพัฒนาความสามารถในด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า 1) การสอนโดยใช้กิจกรรมบทบาทสมมติ ทำให้นักเรียนมีความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษหลังการทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 2) การใช้กิจกรรมบทบาทสมมติทำให้นักเรียนมีพัฒนาการในด้านความรับผิดชอบ ช่วยเหลือกลุ่มทำงานจนประสบความสำเร็จ ความกล้าแสดงท่าทางประกอบคำพูดตามบทนทนา และความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมได้สำเร็จในเวลาที่กำหนด
พรทิพา มูลแก้ว (2544) ได้ศึกษาผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการพูดภาษาอังกฤษของผู้เรียนที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำ โดยใช้กิจกรรมการสอนที่ใช้กิจกรรมบทบาทสมมติกำหนดบทบาทให้ผู้เรียน ของนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งจำนวน 9 คน พบว่า รูปแบบการสอนที่ใช้กิจกรรมบทบาทสมมติที่กำหนดและหมุนเวียนบทบาทของผู้เรียนทุกคนส่งผลดีต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการพูดภาษาอังกฤษของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมีความสนุกสนานในการเรียน มีการพัฒนาทักษะทางภาษาที่ดีขึ้น มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นและกล้าแสดงออกในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น
กรรณิการ์ กาญจันดา (2544) ได้ศึกษากิจกรรมการใช้บทบาทสมมติตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเพื่อส่งเสริมความสามารถในการฟังพูดภาษาอังกฤษและแรงจูงใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า 1) นักเรียนมีความสามารถในการฟัง-พูดภาษาอังกฤษผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้หลังการเรียนโดยใช้กิจกรรมบทบาทสมมติตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร 2) นักเรียนมีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นหลังการเรียนโดยใช้กิจกรรมบทบาทสมมติตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร
นิรัญ โคตรศรี (2544) ได้ศึกษาการใช้กิจกรรมบทบาทสมมติในการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารพบว่า กิจกรรมบทบาทสมมติมีส่วนช่วยให้นักเรียนที่มีทักษะการพูดภาษาอังกฤษต่ำมีส่วนร่วมในการพูดภาษาอังกฤษในห้องเรียนมากขึ้น และนักเรียนมีความเข้าใจในคำศัพท์และไวยากรณ์เพิ่มมากขึ้น
พรรณิพา สิงห์สีโว (2547) ได้ศึกษาการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ภาอังกฤษตามแนวการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารโดยใช้กิจกรรมบทบาทสมมติของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านสะอาดนาดี อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จำนวน 22 คน พบว่ากิจกรรมบทบาทสมมติช่วยให้นักเรียนเกิดความต้องการสื่อสาร มีพัฒนาการด้านการพูดมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้นักเรียนมีความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริงและยังสามารถพัฒนาทักษะการฟัง อ่าน เขียนด้วยเช่นกัน
เรืองศักดิ์ ภาคีพร (2548) ได้ศึกษาวิธีการสอนแบบบทบาทสมมติเพื่อช่วยพัฒนาการพูดประโยคภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดเชิงเลน ผลการศึกษาพบว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบทบาทสมมติ ทำให้นักเรียนมีความสุข สนุกสนาน สามารถพูดประโยคภาษาอังกฤษได้ถูกต้อง แม่นยำยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนมีความคิดอย่างเป็นระบบ และสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่เพื่อน