งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาห่วงโซ่อุปทานของสุกรในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจากการศึกษาในเบื้องต้น พบว่าห่วงโซ่อุปทานของสุกรในอำเภอบางคล้ามีด้วยกันหลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบส่วนใหญ่ของโซ่อุปทานที่นิยม (คิดเป็นร้อยละ 40 เปอร์เซ็นต์) ประกอบด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ผู้รับซื้อ (พ่อค้าคนกลาง, ผู้ค้าส่ง, ผู้ค้าปลีก) และผู้บริโภค โดยได้ศึกษาถึงการดำเนินงานอย่างละเอียดของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวน 16 ราย การดำเนินงานของเกษตรกร จำนวน 13 ราย เลี้ยงเฉพาะสุกรขุนเพียงอย่างเดียว (คิดเป็นร้อยละ 81.25 เปอร์เซ็นต์) และเกษตรกรอีก 3 ราย เลี้ยงทั้งสุกรขุนและสุกรพันธุ์ (คิดเป็นร้อยละ 18.75 เปอร์เซ็นต์) และจากการวิเคราะห์ถึงต้นทุนโลจิสติกส์ของห่วงโซ่อุปทานของสุกรพบว่า มีค่าเท่ากับ 74 บาทต่อกิโลกรัม โดยแบ่งออกเป็น ต้นทุนการเลี้ยงสุกรขุนเฉลี่ยต่อตัวเท่ากับ 6,953.20 บาท มีผลตอบแทนรวมต่อตัวเท่ากับ 446.80 บาท และต้นทุนการเลี้ยงลูกสุกรพันธุ์เฉลี่ยต่อตัวเท่ากับ 1,835.95 บาท มีผลตอบแทนรวมต่อตัวเท่ากับ 534.05 บาท หลังจากนั้นงานวิจัยได้ทำการวิเคราะห์หาแนวทางในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวคือ การเพิ่มมูลค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนั้น จากการสำรวจข้อมูลอย่างละเอียด พบว่า การเลี้ยงสุกรในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรายังขาดการพัฒนาและเก็บข้อมูล ซึ่งหน่วยงานของรัฐควรให้ความช่วยเหลือโดยการพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงสุกร และเทคโนโลยีการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการขยายตลาด รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร