ไทย “ดอกบัว” นับเป็นดอกไม้ที่คนไทยเราคุ้นเคยเป็นอย่างมาก เพราะใช้ในการบูชาพระอยู่เป็นประจำ แม้แต่การแสดงความเคารพด้วยการประนมมือของเราหากดูดีๆก็จะเห็นว่าคล้ายรูปดอกบัว
การที่ดอกบัวเป็นดอกไม้ที่ใช้ในพิธีมงคล คงเป็นเพราะธรรมชาติกำเนิดของดอกบัวได้แสดงให้เห็นถึงปรัชญาการดำเนินชีวิตอย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ แม้จะเกิดในโคลนตม แต่เมื่อโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงสว่างแล้ว กลีบดอกกลับสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดแปดเปื้อน เสมือนคนที่เกิดมาแล้ว หากเข้าถึงหลักธรรมก็สามารถเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงได้ อย่างไรก็ดี ดอกบัวมิได้เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรา เพียงแค่เป็นดอกไม้บูชาพระเท่านั้น แต่ “บัว” ยังมีบทบาทต่อวิถีชีวิตไทยในอีกหลากหลายลักษณะ
บัว กับชื่อของคน การที่บัวได้รับความนิยมว่าเป็นไม้มงคล ทำให้ถือว่าเป็นมงคลนาม จึงมีการนำไปตั้งชื่อหญิงสาวทั้งในวรรณคดี และชีวิตประจำวันมากมาย เช่น นางปัทมาวดี ในนิทานเวตาล นางปทุมเกสร ในบทละครเรื่องพระอภัยมณี นางบัวคลี่ ในเสภาขุนช้างขุนแผน ส่วนชื่อพื้นบ้านก็ได้แก่ สายบัว บัวแก้ว บัวเผื่อน บัวผัน เป็นต้น บัว กับชื่อวัด ในประเทศไทยมีวัดจำนวนน้อยที่มีชื่อสัมพันธ์กับบัว เช่น วัดรางบัว วัดบึงบัว วัดบัวผัน วัดฉัตรแก้วจงกลนี วัดบัวขวัญ วัดอุบลวนาราม วัดบัวทอง วัดบัวสุวรรณประดิษฐ์ วัดปทุมทอง วัดบางกอบัว วัดบัวโรย วัดสระบัว,วัดบัวแก้วเกสร,เป็นต้น
สำนวนที่เกี่ยวกับบัว ได้แก่ บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น มีความหมายว่า รู้จักผ่อนปรนเข้าหากัน มิให้กระทบ กระเทือน รู้จักถนอมน้ำใจไม่ให้ขุ่นเคือง บางคนก็ใช้ว่า บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น, บัวใต้น้ำ เป็นคำเปรียบคนที่มีสติปัญญาทึบ ไม่มีโอกาสบรรลุธรรม โดยปริยาย หมายถึง คนโง่ บัวบังใบ เป็นคำเปรียบหมายถึง เห็นผิวเนื้อรำไร, ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด หมายถึง ความชั่วหรือความผิดร้ายแรงที่คนรู้กันทั่วแล้ว จะปิดปังอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เป็นต้น