เมืองไทยเราเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชาวจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และชาวจีนก็เริ่มเข้ามาตั้งรกรากลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่า ในบางเรื่องเราแทบจะแยกความเป็นไทยกับจีนไม่ออกเนื่องจากวัฒนธรรมของทั้งสองชาติได้ผสมกลมกลืนกันมาเป็นเวลานานแล้ว เรื่องที่ว่านั้นก็รวมไปถึงเรื่องของศิลปะด้วย โดยศิลปะจีนนั้นได้แทรกตัวอยู่ร่วมกับศิลปะไทยได้อย่างลงตัวโดยเฉพาะตามวัดวาอารามหลายๆแห่ง
ซึ่งเรามักจะได้พบเห็นการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับศิลปะจีนในศาสนสถานที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพราะในช่วงนั้น เป็นช่วงที่การค้าของประเทศไทยกับประเทศจีนรุ่งเรืองที่สุด ถึงขนาดที่พระองค์ได้รับฉายาว่าเป็น “เจ้าสัว” เนื่องจากความสามารถในการแต่งสำเภาไปค้าขาย และในช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่มีชาวจีนอพยพเดินทางมาพร้อมกับเรือสำเภา เข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนจีนเหล่านี้ต่อมาก็ได้เป็นกำลังสำคัญในการช่าง การสร้างวัดต่างๆ มากมาย
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ศิลปะแบบจีนในวัดนั้นได้ชื่อว่าเป็น “พระราชนิยม” ซึ่งจะมีจุดเด่นตรงที่หลังคาของโบสถ์หรือวิหารในส่วนที่เป็นหน้าบันนั้นจะเป็นแบบเรียบๆ ตัดส่วนที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หรือที่เรียกว่าเครื่องบนออกทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ว่าชำรุดเสียหายได้ง่ายและเปลืองเวลาในการทำ แต่มีการประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลาย เช่น ดอกไม้ หรือสัตว์ต่างๆ ตามแบบจีน เช่นหงส์ หรือมังกรแทน