การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรม ความพึงพอใจ ความต้องการ ที่มีต่อการค้นหาบทความวารสารจาก CMUL OPAC ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรม ความพึงพอใจ ความต้องการ ของนักศึกษาแต่ละคณะ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษา คือ นักศึกษาสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 10 คณะ รวม 324 คน ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปทางสถิติ ประมวลผลข้อมูลวิเคราะห์ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
และค่าสถิติ
ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้ CMUL OPAC ในการค้นหาบทความวารสาร มีความถี่ในการใช้งานประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยที่นักศึกษาส่วนใหญ่เลือกใช้ทางเลือกในการค้นหาบทความด้วยคำสำคัญ การใช้งานบทความวารสารมีวัตถุประสงค์เพื่อ ประกอบการทำรายงาน ประกอบการเรียนและประกอบการทำวิจัย ตามลำดับ
ความพึงพอใจต่อการใช้งาน CMUL OPAC ในด้านการพบบทความวารสารที่ต้องการด้านบทความที่สืบค้นตรงต่อความต้องการ ความทันสมัยของบทความ ด้านการพบตัวเล่มวารสาร ด้านประสิทธิภาพของโปรแกรม ด้านความสะดวกใช้งานง่าย และด้านความรวดเร็วของการแสดงผลการสืบค้น อยู่ในระดับปานกลาง
นักศึกษาส่วนใหญ่ ต้องการให้ CMUL OPAC มีการจัดทำระบบให้ค้นหาได้ง่ายคล้าย Google, Yahoo, Bing มากที่สุด รองลงมาคือ ต้องการให้เพิ่มความสะดวกรวดเร็วและสวยงามของโปรแกรม จัดทำหน้าจอค้นหาบทความวารสารให้เด่นและชัดเจน จัดทำคู่มือแนะนำการใช้งาน และจัดอบรมการใช้งาน