ด้วยความเก่าแก่ของอารยธรรมอินเดีย และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้เทศกาลโฮลี ถูกเชื่อมโยงกับตำนานต่างๆ มากมาย เช่น เรื่องการเผานางโหลิกา น้องสาวของอสูรหิรัณยกศิปุ ในตำนานนารายณ์อวตารเป็นนรสิงห์, เรื่องการเล่นโฮลีอย่างสนุกสนานระหว่างพระกฤษณะกับนางโคปีทั้งหลาย เป็นต้น ดังนั้นในคืนก่อนวันโฮลีตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ จะรวมกลุ่มกันจัดพิธีเผานางโหลิกา เพื่อพิธีเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่า การทำร้ายเบียดเบียนกันในสังคม ตลอดจนความชั่วร้ายต่างๆ จะถูกเผาทำลายไป ธรรมะมีชัยชนะเหนืออธรรม
เทศกาลโฮลี เป็นเทศกาลของชาวฮินดูซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ปีละสองวันในช่วงเดือนมีนาคม เทศกาลนี้เรียกอีกอย่างว่า “เทศกาลแห่งสีสัน” โดยทุกคนจะสาดผงสีใส่กันอย่างสนุกสนาน หรืออาจจะสาดน้ำใส่กัน คล้ายๆ สงกรานต์บ้านเราเลยทีเดียว รูปแบบของการเฉลิมฉลองเทศกาลโฮลี่นี้เทียบได้กับสงกรานต์ของไทย คือมีการสาดน้ำใส่กันแต่เป็นน้ำที่ผสมสีสันต่างๆ บ้างก็ไม่ใช้น้ำ แต่ใช้ผงสีซัดใส่กันหรือป้ายหน้าป้ายตัวกันอย่างสนุกสนาน นิยมเล่นกันในเวลาเช้าถึงเที่ยงวันก็เลิก ต่างคนต่างกลับบ้านไปอาบน้ำและพักผ่อน พอตกตอนเย็นจะออกมาพบปะสังสรรค์กัน แจกขนมหวานและสวมกอดกัน เทศกาลโฮลี่จึงถือเป็นเทศกาลแห่งมิตรภาพ มิตรสหายได้แสดงไมตรีเข้าสวมกอดกัน ผู้ที่เคยขัดแย้งกันก็จะได้ปรับความเข้าใจและคืนสู่มิตรภาพ