เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร
และยังมีสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงามเป็นที่รู้จักกันอย่างดี
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่บนถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
ประวัติ
พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๘๘ ขั้นแรกให้สร้างเจดีย์สูง ๒๓ วา เพื่อบรรจุพระอัฐิ
ของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาอีกสองปีจึงสร้างพระอาราม เสนาสนวิหารการเปรียญ และกุฎิสงฆ์เรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า
"วัดพระเชียง"ต่อมาบริเวณหน้าวัดมีตลาดเกิดขึ้นชาวบ้านเรียกว่า"ตลาดลีเชียง" นานเข้าจึงเรียกวัดว่า"วัดลีเชียง"
นานเข้าจึงเรียกวัดว่า"วัดลีเชียงพระ" ระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๓๑ - ๑๙๕๔ สมัยพญาแสนเมืองมาครองนครเชียงใหม่
โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงรายมาเชียงใหม่ทางเหนือนิยมเรียก"พระพุทธสิหิงค์" สั้น ๆ ว่า "พระสิงห์"
จึงเรียกชื่อวัดตามพะรพุทธรูปว่า "วัดพระสิงห์" ด้วย
ตำนานพระสิงห์
พระมหาเถรโพธิรังสีชาวหิริภุญไชย รจนาภาษาบาลีไว้ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ พระเจ้าสีหฬะแห่งลังกาทวีป ได้โปรดให้หล่อ
พระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งเรียกว่า "พระพุทธสิหิงค์"แต่ในชิยกสลมาลีปกรณ์เรียกว่า"สีหฬะปฎิมา" ตามนามกษัตริย์ผู้สร้าง
พ.ศ. ๑๘๓๙ กษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชแต่งทูตไปขอคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกาและได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับมาด้วย ภายหลังมาประดิษฐานอยู่ที่กรุงสุโขทัย เมื่อพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) ตีสุโขทัยได้ หลายสิบปีต่อมาพญาไสลือไทย
ได้อัญเชิญมาไว้ที่พิษณุโลก เมื่อพญาไสลือไทยสิ้นพระชนม์ จึงอัญเชิญมาที่กรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. ๑๙๒๗ พระญาณดิศ เชื้อวงศ์พระร่วงได้กราบทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาขออัญเชิญมาไว้ที่เมืองกำแพงเพชร
พ.ศ. ๑๙๓๔ เจ้ามหาพรหม พระปิตุลาของเจ้าแสนเมืองมาได้อัญเชิญไปไว้ที่เชียงราย และโปรดให้หล่อพระพุทธสิหิงค์จำลองขึ้น เมื่อเจ้ามหาพรหมถึงแก่พิราลัยแล้ว พระพุทธสิหิงค์จึงได้มาประดิษฐาน ณ วัดลีเชียงพระ ในนครเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๐๘๔ พระไชยเชษฐาทรงนำพระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปจากเชียงใหม่หลายองค์ไปไว้ที่ล้านช้าง(หลวงพระบาง)
เมื่อทางเชียงใหม่ทวงถามจึงทรงคืนพระพุทธสิหิงค์มาเพียงองค์เดียว
พ.ศ. ๒๒๐๕ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงยกทัพมารบเชียงใหม่และทรงอัญเชิญลงไปไว้ที่อยุธยาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อยู่นานถึง ๑๐๕ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงแตก ทหารเชียงใหม่ที่มาในกองทัพพม่าอัญเชิญกลับเชียงใหม่ทางเรือ และประดิษฐานอยู่ที่วัดตั้งแต่นั้นมา
วิหารลายคำ เป็นวิหารพื้นเมืองขนาดเล็ก ภายในเป็นที่ประดิษฐาน"พระพุทธสิหิงค์" ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๑ นิ้ว สูงจากขอบฐานถึงยอดพระเมาลีบัวตูม ๕๑ นิ้ว เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองชียงใหม่จะอัญเชิญพระพุธสิหิงค์แห่ไปถนนรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาโดยทั่วกัน วิหารลายคำพบแห่งเดียวที่นี่