ระบำศรีวิชัยเป็นระบำโบราณคดี เกิดขึ้นเมื่อกลางปี พ.ศ. 2509 โดยได้รับแจ้งจากคุณประสงค์ บุญเจิม เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่าท่านตนกู อับดุลราห์มาน นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย ต้องการจะได้นาฏศิลป์จากประเทศไทยไปถ่ายทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง Raja Bersiyong ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัยที่ท่านตนกูแต่งขึ้น จึงขอให้กรมศิลปากรจัดระบำให้ 2 ชุด คือ รำซัดชาตรี และระบำศรีวิชัย สำหรับระบำศรีวิชัยเป็นการศึกษาค้นคว้าขึ้นใหม่ โดยความคิดริเริ่มของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
เมื่อ พ.ศ. 2510 มีนางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวนิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ โดยอาศัยท่าทางของนาฏศิลป์ชวามาผสมผสานเข้าด้วยกัน และมีนายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประดิษฐ์ทำนองเพลง
โดยหาแบบอย่างเครื่องดนตรี เช่น เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี เครื่องเป่า จากภาพจำหลักที่พระสถูปบุโรพุทโธ ในเกาะชวา และ เลือกเครื่องดนตรีของไทยที่มีลักษณะใกล้เคียงกันบ้าง นำมาผสมปรับปรุงเล่นเพลงประกอบจังหวะระบำขึ้น มีนายสนิท ดิษฐ์พันธ์ เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ตามหลักฐานศิลปกรรมภาพจำหลักที่พระสถูปบุโรพุทโธ ในเกาะชวา
ท่ารำระบำศรีวิชัยประดิษฐ์ขึ้นจากภาพจำหลักและภาพปูนปั้นสมัยศรีวิชัย ประสมกับท่ารำชวาและบาหลี สอดแทรกลีลาทางนาฏศิลป์ ลักษณะรำบางท่าคล้ายท่ารำของชวา และบาหลี เช่น การตั้งวงกันศอก ออกเป็นวงโค้ง การทำมือ การใช้คอยักคอเหมือนนาฏศิลป์ชวาและบาหลี การตั้งท่านิ่ง ท่าบิดสะโพกคล้ายท่ารำของบาหลี
ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงระบำศรีวิชัย
กระจับปี่ ซอสามสาย ตะโพน กลองแขก ฆ้อง 3 ลูก ฉิ่ง กรับ ฉาบ ขลุ่ย