สมดุลไดนามิก (Dynamic equilibrium)
สมดุลไดนามิก เป็นภาวะสมดุลที่เกี่ยวข้องกับอัตราการเกิดปฏิกิริยาของสาร “หมายถึงภาวะสมดุลที่ระบบมีอัตราการเกิดปฏิกิริยาไปข้างหน้าเท่ากับอัตราการเกิดปฏิกิริยาย้อนกลับ หรือมีอัตราการเปลี่ยนแปลงสุทธิเท่ากับศูนย์”
เมื่อระบบอยู่ในภาวะสมดุลจะมีอัตราเร็วสุทธิของปฏิกิริยาเท่ากับศูนย์ ทำให้ความเข้มข้นของสารต่าง ๆ ในระบบคงที่ อย่างไรก็ตามที่ภาวะสมดุลไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งปฏิกิริยาไปข้างหน้าและปฏิกิริยาย้อนกลับ เพียงแต่มีอัตราเร็วเท่ากัน เมื่อดูจากลักษณะภายนอกจึงคล้ายกับไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่นเมื่อใส่น้ำลงใส่ถ้วยแก้วที่ฝาปิด น้ำจะกลายเป็นไอทำให้ระดับน้ำในถ้วยแก้วลดลง ในขณะเดียวกันไอน้ำบางส่วนจะกลั่นตัวกลายเป็นน้ำ เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งระดับน้ำในถ้วยแก้วจะคงที่ซึ่งเป็นภาวะที่ระบบกำลังสมดุล ดูจากภายนอกจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นการระเหยและการกลั่นตัวยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลาด้วยอัตราเร็วเท่ากัน
ประเภทของสมดุลไดนามิก
โดยทั่ว ๆ ไป แบ่งประเภทสมดุลไดนามิกตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงของสาร คือสมดุลไดนามิก เนื่องจากการเปลี่ยนสถานะ การเกิดสารละลายและการเกิดปฏิกิริยาเคมี ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดของแต่ละประเภทต่อไป
ภาวะสมดุลระหว่างสถานะ
เนื่องจากสารแต่ละชนิดสามารถมีได้ทั้งของแข็ง ของเหลวและก๊าซ โดยที่สถานะต่าง ๆ ของสารสามารถจะเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้โดยการเพิ่มหรือลดพลังงานให้แก่ระบบ ดังนั้นการเปลี่ยนสถานะของสารจึงมีภาวะสมดุลเกิดขึ้นได้ เช่น สมดุลระหว่างของแข็งกับของเหลว ของเหลวกับก๊าซ และของแข็งกับก๊าซ โดยมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามลักษณะของการเปลี่ยนแปลง
ภาวะสมดุลในสารละลาย
ดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่าการละลายของสามารถทำให้เกิดภาวะสมดุลขึ้นได้ ทั้งสารที่เป็นอิเล็กโทรไลต์และนอน – อิเล็กโทรไลต์ โดยแบ่งลักษณะสมดุลของการละลายเป็น 2 ประเภทดังนี้
ก. สมดุลของการแตกตัว เกิดขึ้นกับการละลายของอิเล็กโทรไลต์อ่อนในน้ำ บางส่วนจะแตกตัวเป็นไอออน ในขณะที่บางส่วนของไอออนจะรวมกันโมเลกุลเมื่อถึงภาวะสมดุลอัตราการแตกตัวเป็นไอออนจะเท่ากับอัตราการรวมกันเป็นโมเลกุล เรียกว่า สมดุลของการแตกตัว ตัวอย่างเช่นการละลายของกรดไฮโดรไซยานิก (HCN) ในน้อ HCN จะแตกตัวบางส่วนเป็นไอออนซึ่งจัดว่าเป็นปฏิกิริยาไปข้างหน้า