เขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนเอนกประสงค์ที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากจะให้ประโยชน์ทางด้าน การผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังอำนวยประโยชน์นานัปการต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคแถบนี้ ทั้งทางด้าน การชลประทาน การป้องกันอุทกภัย การประมง และการท่องเที่ยว นับเป็นการสงวนและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศให้เกิด ประโยชน์สูงสุดอย่างสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน
- ลักษณะเขื่อนสิริธร
- เป็นเขื่อนประเภทหินถม แกนดินเหนียว
- สร้างปิดกั้นแม่น้ำลำโดมน้อย อันเป็นสาขาของแม่น้ำมูล
- ตั้งอยู่ที่บริเวณแก่งแซน้อย ตำบลช่องเม็ก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
- ตัวเขื่อนมีความสูง ๔๒ เมตร ยาว ๙๔๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๗.๕ เมตร
- อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ประมาณ ๒๘๘ ตารางกิโลเมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ ๑,๙๖๖.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับกักเก็บน้ำสุงสุด ๑๔๒.๒ เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง)
- โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ ๓ เครื่อง ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ ๑๒,๐๐๐ กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น ๓๖,๐๐๐ กิโลวัตต์
- เริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑ และมีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขนานนามเขื่อนว่า "เขื่อนสิรินธร"
- การก่อสร้างตัวเขื่อนและระบบส่งไฟฟ้าระยะแรก แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเปิดเขื่อนสิรินธร เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔
- วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มอบเขื่อนสิรินธร ให้อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต่อไป
-- ประโยชน์ของเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
เขื่อนสิรินธรเป็นโครงการเอนกประสงค์ จึงสามารถอำนวยประโยชน์อย่างกว้างขวางในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ดังนี้
ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถใช้พลังน้ำมาผลิตพลังงานได้เฉลี่ยปีละ ๙๐ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้ขยายขอบเขตการจ่ายกระแสไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกไปได้กว้างขวางขึ้น
- ด้านการชลประทานและการเกษตร สามารถส่งน้ำที่เก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำไปใช้ในระบบชลประทานได้เป็นพื้นที่ ๑๕๐,๐๐๐ ไร่ จึงช่วยให้เกษตรกรในแถบนี้ทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี
- ด้านการบรรเทาอุทกภัย สามารถกักเก็บน้ำที่ไหลบ่ามาตามแม่น้ำโดมน้อยไว้ได้เป็นจำนวนมาก จึงช่วยป้องกัน ปัญหาน้ำท่วมและช่วยให้แม่น้ำมูลสามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้สะดวกยิ่งขึ้น
- ด้านการประมง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ร่วมกับ กรมประมง นำพันธุ์ปลามาปล่อย อาทิ ปลายี่สก ปลานิล ปลาใน ฯลฯ และกุ้งก้ามกราม ทำให้ราษฎรมีอาชีพหลักเพิ่มขึ้น
- ด้านการคมนาคม สามารถใช้อ่างเก็บน้ำเป็นเส้นทางเดินเรือ ติดต่อค้าขายและคมนาคมขนส่งผลผลิตออกสู่ ตลาดได้สะดวกอีกทางหนึ่ง
- ด้านการท่องเที่ยว ความสวยงามสงบร่มรื่นของภายในบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ เป็นสิ่งดึงดูดใจให้นัก ท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมและพักผ่อนหย่อนใจเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการขยายตัวทางด้านธุรกิจท่องเที่ยวอื่น ๆ ตามไปด้วย