ยุคก่อกำเนิด หรือยุคบรรพกาล (? – 2100 ปี ก่อน ค.ศ.)ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำหวงเหอ (黄河) มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ยุคหิน ซึ่งผู้คนเหล่านี้ได้ค่อย ๆ มีการพัฒนา จากการที่ต่างคนต่างอยู่ ยังชีพด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์ ก็ค่อย ๆ เข้ามารวมตัวกันเป็นชุมชน ทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ก่อเกิดเป็นสังคมแบบชนเผ่าขึ้น ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้เกิดมีผู้นำคนสำคัญๆที่ได้มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมขณะนั้น คือ ซุ่ยเหริน (燧人) ฝูซี (伏羲) เสินหนง (神农) ซึ่งสามคนนี้ได้รับการยกย่องเป็น “ซันหวง” (三皇) หรือสามกษัตริย์ ตราบจนเมื่อประมาณ 4600 ปีก่อน ค.ศ. หวงตี้ (黄帝) หรือ จักรพรรดิเหลือง สามารถกำราบชนเผ่าทั้งหลายในแถบลุ่มน้ำหวงเหอได้สำเร็จ อันเป็นที่มาของชนชาติ “หวาเซี่ย” (华夏) หรือ ชนชาติจีน กาลต่อมาก็ได้มีผู้นำที่มีความสามารถเช่น จวนซวี (颛顼) ตี้คู่ (帝喾) เหยา (尧) ซุ่น (舜) บุคคลทั้งสี่นี้ เมื่อรวมกับหวงตี้ (จักรพรรดิเหลือง) จึงกลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “หวู่ตี้” (五帝) หรือ ห้าจักรพรรดิ
จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้สังคมจีนแบบบุพกาลสิ้นสุดลง คือการที่ต้าอวี่ (大禹) สามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยในแถบลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่คุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณนั้นมาอย่างยาวนานได้สำเร็จ ดังนั้นพระเจ้าซุ่นจึงได้สละบัลลังก์ของตนมอบให้แก่ต้าอวี่ ต้าอวี่ปกครองประชาชนด้วยความร่มเย็นเป็นสุขจนเมื่อตนเองแก่ชรา จึงคิดจะยกราชสมบัติให้แก่อี้ (益) ตามประเพณีดั้งเดิมที่จะยกบัลลังก์ให้แก่ผู้มีความสามารถ แต่ทว่าด้วยแรงหนุนจากบรรดาหัวหน้าเผ่าต่างๆที่อยู่ภายใต้การปกครองของต้าอวี่ ทำให้ฉี่ (启) โอรสของต้าอวี่ได้สืบทอดบัลลังก์ต่อจากบิดา เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคบรรพกาล ประวัติศาสตร์จีนได้เข้าสู่ยุคแห่งรัฐระบอบทาสนับแต่นั้น