สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ
จากการประกอบกิจการหรือโครงการใดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติที่เกิดขึ้นใหม่ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงมิติจากคำว่ารัฐจัดให้มาเป็นทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดนโยบายสุขภาพแห่งชาติ โดยวางเป้าหมายไปที่สุขภาพดีของคนไทยซึ่งมีผลทำให้คำว่าสุขภาพดีที่ว่านี้มีขอบเขตกว้างครอบคลุมไปถึงในเรื่องของ
การประกอบกิจการหรือโครงการใดที่จะทำ ลงไปแล้วอาจมีผลต่อสุขภาพด้วย นอกจากนี้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2550 นี้ ถือเป็นกฎหมายมหาชน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือและตัวบทกำหนดกลไกในการดูแลสนับสนุนระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งก่อให้เกิดมุมมองและแนวปฏิบัติการใหม่ในเรื่องสุขภาพ5 ประการดังนี้
1. ให้ความหมายของสุขภาพที่กว้างและครอบคลุมขึ้นโดยหมายถึงภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และสังคม ที่เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุลซึ่งไม่ใช่เฉพาะด้านการแพทย์ และสาธารณสุขเท่านั้น หากแต่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในสังคม
2. มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
(คสช.) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐเอกชน วิชาชีพและประชาสังคม ทำหน้าที่เป็นตัวประสานเครือข่ายองค์กร ที่ทำงานด้านสุขภาพ โดยมีภารกิจในการประสานกับทุกฝ่ายในสังคมให้เข้ามาร่วมกันพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการประเมินผลระบบสุขภาพและผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะให้ข้อเสนอแนะ และให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพตลอดจนจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติและสนับสนุนการจัดสมัชชาสุขภาพ
3. มีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
(สช.) เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับนายกรัฐมนตรี
ทำหน้าที่เป็นองค์กรเลขานุการให้กับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนของสังคม
ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ทำงานพัฒนาสุขภาวะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
4. สนับสนุนการจัดกระบวนการสาธารณะที่เรียกว่า
สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามาทำงานนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพรวมทั้งการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพร่วมกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
5. ให้มีการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติเพื่อกำหนดกรอบทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของประเทศที่เน้นการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและให้มีการปรับปรุงแก้ไขอย่างน้อยทุก 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปนอกจากนี้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติยังได้พูดถึงองค์รวม 4 ประการ ว่าคนเราจะมีสุขภาพดีกายต้องดีด้วย มีปัจจัย 4 พร้อม คือ มีร่างกายแข็งแรง ถึงแม้ป่วยก็สามารถที่จะอยู่อย่างสมฐานะ
นั่นคือ กาย จิต ก็จะมีจิตใจดี มีความสุข ไม่เครียด ไม่บีบคั้น ไม่เจ็บป่วยทางจิตใจดังนั้น คำว่าสุขภาพในปัจจุบันจึงแตกต่างจากสมัยก่อน ซึ่งต้อง
มีทั้ง 4 ปัจจัยหรือ 4 มิติเชื่อมโยงกัน เพราะถ้าเกิดการเจ็บป่วยในมิติใดมิติหนึ่งแล้วก็จะส่งผลไปยังอีกมิติหนึ่งอย่างต่อเนื่องเป็นพลวัตสำหรับในเรื่องของปัจจัยกำหนดสุขภาพ
ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติตระหนักถึง เนื่องจากสิ่งอื่นๆ ที่อยู่รอบนอกหรือที่เรียกว่า
ปัจจัยกำหนดสุขภาพนั้น มีผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สภาพการเมืองปัจจุบัน
บางคนอาจมองว่ามันห่างไกลกับสุขภาพ แต่จริงๆ แล้วสภาพการเมืองหรือบรรยากาศทางการเมืองก็มีผลต่อสุขภาพเช่นกันเพราะนโยบายต่างๆ ที่รัฐประกาศออกมานั้นสามารถส่งผลต่อสุขภาพได้ทั้งนั้น เช่น การประกาศนโยบายเรื่องการผันน้ำเข้ามาสู่ภาคอีสานอย่างนี้โดยมีเป้าหมายก็เพื่อจะทำให้ภาคอีสานอุดมสมบูรณ์ สามารถที่จะเป็นแหล่งอาหารให้กับประเทศไทยและคนทั้งโลกได้แนวคิดนี้ก็ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือสังคม จึงมีกระบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนชุมชนท้องถิ่นชมชนดั้งเดิม ว่าแหล่งน้ำขนาดเล็กหรือวิถีชีวิตในการใช้น้ำในอดีตจะหายไปหรือเปล่านี่คือประเด็นที่มันมีผลกระทบ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่านโยบายต่างๆไม่ใช่เรื่องไกลตัว
แต่กลับเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นในการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีในสังคม
ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น เข้มแข็งรู้เท่าทันต่อสิ่งที่จะไปมีผลกระทบต่อความเข้มแข็งของชุมชน จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติถือว่าเป็นการเปิดมิติเปลี่ยนวิธีการ ไม่ได้เป็นพระราชบัญญัติที่กำหนดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้ชัดเจนแต่เป็นพระราชบัญญัติที่กำหนดกระบวนการ เปิดกระบวนการให้มีส่วนร่วมมากที่สุด เป้าหมายของพ.ร.บ. ฉบับนี้คือการมีสุขภาวะทุกคน (Health for All) โดยเครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนมีสุขภาวะที่สำคัญก็คือ เรื่องของนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดีไม่ใช่นโยบายที่เกิดขึ้นจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคิดแต่ต้องเกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมทั้ง 3 ภาคส่วน คือ ภาคประชาชน
ภาควิชาการ และภาคการเมืองหรือราชการที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ
ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้สังคมเดินทางไปสู่สุขภาวะหรือสังคมแห่งสุขภาพ