ซุน ยัตเซ็น (12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1866 - 12 มีนาคม ค.ศ. 1925) เป็นนักปฏิวัติและประธานาธิบดีจีน ซุนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "บิดาของชาติ" ในสาธารณรัฐจีน และ "ผู้บุกเบิกการปฏิวัติประชาธิปไตย" ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความเป็นผู้ริเริ่มจีนชาตินิยมคนสำคัญ ซุนมีบทบาทสำคัญในการล้มราชวงศ์ชิงระหว่างการปฏิวัติซินไฮ่ ซุนเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลคนแรกเมื่อสาธารณรัฐจีนก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1912 และภายหลังร่วมก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก[1] ซุนเป็นบุคคลผู้สร้างความสามัคคีในจีนหลังยุคจักรวรรดิ และยังคงเป็นนักการเมืองจีนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวางจากประชาชนทั้งสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน
แม้ซุนถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนสมัยใหม่ ชีวิตการเมืองของเขากลับต้องต่อสู้ไม่หยุดหย่อนและต้องลี้ภัยบ่อยครั้ง หลังประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ เขากลับสูญเสียอำนาจอย่างรวดเร็วในสาธารณรัฐจีนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น และนำรัฐบาลปฏิวัติสืบต่อมาเป็นการท้าทายขุนศึกที่ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ซุนมิได้มีชีวิตอยู่เห็นพรรคของเขารวบรวมอำนาจเหนือประเทศระหว่างการกรีฑาทัพขึ้นเหนือ (Northern Expedition) พรรคของเขา ซึ่งสร้างพันธมิตรอันละเอียดอ่อนกับพวกคอมมิวนิสต์ แตกเป็นสองฝ่ายหลังเขาเสียชีวิต มรดกสำคัญของซุนอยู่ในการพัฒนาปรัญาการเมืองของเขา ซึ่งรู้จักกันในชื่อ หลัก 3 ประการแห่งประชาชน อันได้แก่ ชาตินิยม ประชาธิปไตย และความเป็นอยู่ของประชาชน