ถนนเยาวราช
ผู้จัดทำมั่นใจได้เลยว่าถนนนี้คงเป็นที่รู้จักของใครหลายๆคน โดยเฉพาะนักช็อปและนักชิมทั้งหลาย เมื่อลองจินตนาการภาพของถนนเยาวราช บางครั้งก็ทำให้นึกถึงถนนในฮ่องกงที่เต็มไปด้วยป้ายภาษาจีนทั้งสองฟากฝั่งถนน รวมไปถึงภัตตาคารจีนเลิศรสอีกหลายแห่ง บางคนก็บอกว่าความยาวของถนนเยาวราชมีรูปร่างลักษณะคล้ายมังกร จึงมีการให้สมญากับถนนเยาวราชนี้อีกว่า ถนนมสายมังกร นอกจากภัตตาคารอาหารจีนแล้วยังมีธุรกิจร้านทองที่เลื่องชื่อไม่ว่าจะเป็น ร้านทองเล่งหงษ์ หรือร้านทองฮั่วเซ่งเฮง เป็นต้น เมื่อกล่าวถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญของถนนเยาวราชไปแล้ว เราลองไปอ่านถึงประวัติความเป็นมาของถนนนี้กันเถอะค่ะ จะได้รู้กันว่าทำไมถนนสายมังกรแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า เยาวราช
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระองค์โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างถนนนี้ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ – ๒๔๔๓ ตั้งต้นจากบริเวณคลองโอ่งอ่างถึงวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นระยะทาง ๑,๕๓๒ เมตร ส่วนคำว่า เยาวราช มีความหมายว่า พระราชาที่ทรงพระเยาว์ หมายถึงรัชกาลที่ ๕ ที่ขึ้นครองราชย์ เมื่อมีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา ต่อมาถนนสายนี้ได้ถูกขนานนามว่าเป็น ไชน่าทาวน์ ของเมืองไทย เนื่องจากตลอดสายของถนนเป็นแหล่งทำมาหากิน และที่อยู่อาศัยของชนชาวจีน นับได้ว่าเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในอดีต ถนนเยาวราช เป็นถนนสายแรกที่มีตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยตั้งอยู่คือ ตึกเจ็ดชั้น และตึกเก้าชั้น บนสองฟากของถนนมีภัตตาคารจีนชั้นดี มีโรงภาพยนตร์เฉลิมบุรีที่ทันสมัยในยุคนั้น มีร้านขายทองคุณภาพดีที่เชื่อถือได้ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งอาหารสด และอาหารแห้งเพื่อนำไปประกอบอาหารจีนมากมาย และในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวจีนอย่างเช่น เทศกาลถือศีลกินเจ และเทศกาลตรุษจีน บนถนนสายนี้ก็มีการจัดกิจกรรมและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศมากมายมาเข้าร่วมเฉลิมฉลอง นับว่าเป็นถนนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก