หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ: พันธมิตรใหม่ประตูใหญ่ทางการค้า
1 ลักษณะทั่วไป
เป็นโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงของ 6 ประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จีนตอนใต้ (ยูนนาน) พม่า เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การเกษตร ท่องเที่ยวและบริการ โดยคาดหวังว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น มีธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเป็นผู้สนับสนุนใกล้ชิด โครงการนี้ได้กระชับความร่วมมือยิ่งขึ้นเมื่อมีการประชุมสุดยอดเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2545 ที่กรุงพนมเปญ
2 สถานการณ์และแนวโน้ม
โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของพันธมิตรใหม่ ซึ่งเคยมีความขัดแย้งกันสูงทั้งในประวัติศาสตร์เก่า และในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ช่วงสงครามเย็น กว่าที่ประเทศต่างๆจะเกิดความสงบและหันหน้าเข้าหากัน สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์และจากช่วงสงครามเย็น ภาวะความไม่แน่นอนของโลก ตลอดจนการก่อการร้าย สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ เหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ของการค้าชายแดนได้
ลักษณะพิเศษหรือปัญหาบางประการของโครงการหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ ได้แก่ ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ไม่เท่ากันทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวคือนอกจากประเทศไทยแล้ว ทุกประเทศเพิ่งเปิดประตูติดต่อกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง และอัตราการเปิดก็ยังต่างกัน จากกัมพูชาที่ค่อนข้างเปิดกว้างไปจนถึงพม่าที่ค่อนข้างปิด นอกจากนี้ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ต่างกัน อย่างไรก็ตาม คาดหมายว่าโครงการนี้น่าจะพัฒนาต่อไป เนื่องจากผู้บริหารประเทศต่างๆมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน ทั้งการปิดประตูประเทศก็น่าจะไม่ใช่นโยบายที่ถูกต้อง เมื่อเผชิญกับการกดบีบจากประเทศมหาอำนาจมากขึ้น และการค้าที่เพิ่งขยายตัวทำให้มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้อีกมาก
จุดเด่นประการหนึ่งของโครงการอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งโดยตัวมันเองก็เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โครงการที่ควรกล่าวถึง ได้แก่ 1) การก่อสร้างเขื่อนเพื่อการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีจำนวนนับ 10 เขื่อน จนกล่าวกันว่าที่บริเวณนี้ได้กลายเป็นมหกรรมการสร้างเขื่อนของโลก การสร้างเขื่อนเหล่านี้ได้ก่อผลสำคัญ ได้แก่ การทำให้เครือข่ายไฟฟ้าอาเซียนมีความเป็นไปได้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วย แต่ก็มีผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม อันเป็นที่อยู่ที่ทำกินของผู้คนหลายสิบล้านคน ดังนั้นจึงจำต้องหาทางแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันกาล 2) การปรับปรุงร่องน้ำโขงเพื่อการเดินเรือ ซึ่งในขั้นต้นจะทำให้สามารถเดินเรือระวาง 100-150 ตันได้ตลอดปี อันจะช่วยการค้าชายแดนได้มาก เนื่องจากมีค่าขนส่งที่ไม่แพง แต่การปรับปรุงก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของแม่น้ำสูง 3) การสร้างถนนเป็นตาข่าย มีทั้งในแนวเหนือ-ใต้ และที่สนใจกันมากได้แก่แนวตะวันออก-ตะวันตก ในแนวเหนือ-ใต้นั้นมีหลายเส้นทางซึ่งศูนย์รวมดูจะอยู่ที่เมืองคุนหมิงในประเทศจีน เส้นทางนี้จะเชื่อมเมืองคุณหมิงกับเมืองใหญ่ทางตอนเหนือของลาวและไทย ตลอดจนนครฮานอยของเวียดนาม และมีแนวคิดที่จะเชื่อมคุนหมิง-กรุงเทพฯเข้าด้วยกัน แนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นที่สนใจมากของสถาบันการเงิน มีการศึกษาความเป็นไปได้และให้เงินกู้สร้างถนน สะพานข้ามโขง ท่าเรือ มูลค่าของโครงการราว 740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการนี้จะเชื่อมทะเลอันดามันในมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วย นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายถนนและทางรถไฟทางตอนใต้ที่เชื่อม 3 นครใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพฯ-พนมเปญ-โฮจิมินห์ซิตี้ คาดหมายว่าจะมีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่อีกเช่นกัน
ผลกระทบและผลได้ทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่สม่ำเสมอและมีการแข่งขันสูงขึ้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของการค้าชายแดนไทยอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) การค้าชายแดนระหว่างไทย-ประเทศอินโดจีน 4 ประเทศ คือ พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งถือว่าไทยมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสูงกว่า ประเทศลาวอาจจะได้รับผลประโยชน์จากการค้าไม่มาก กัมพูชาได้พยายามพัฒนาทุนอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เวียดนามที่มีประชากรมากและขยัน มีศักยภาพที่จะเป็นคู่แข่งไทยในอนาคต 2) การค้าชายแดนระหว่างไทย-จีนตอนใต้ ซึ่งหากพิจารณาจากเฉพาะส่วนไทยก็มีการพัฒนาทุนไปสูงกว่า แต่เมื่อคำนึงถึงส่วนทั้งหมด จีนที่มีขนาดประเทศใหญ่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงกว่า คาดหมายว่าจีนน่าจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการค้าชายแดนสูง
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการค้าชายแดน ได้แก่ 1) ขนาดของกิจกรรมการค้ายังไม่สูงมากนัก เนื่องจากบริเวณชายแดนอยู่ห่างไกล ผู้คนอยู่น้อยและยากจน จำนวนหนึ่งเป็นชนชาติส่วนน้อย ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องระวังไม่ให้เกิดการลงทุนมากเกินไป 2) มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนที่คาดว่าจะได้รับผลดี เช่น การก่อสร้าง การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและบริการ ส่วนภาคการเกษตรอาจไม่สูงเท่า 3) การแทรกซึมของบรรษัทขนาดใหญ่ ซึ่งจะเห็นเด่นชัดเมื่อโอกาสทางการค้าและการลงทุนสูงขึ้น 4) การค้านอกระบบน่าจะดำรงอยู่ยาวนานพอสมควรในระบบการค้าชายแดน
สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพตอลดจนทางวัฒนธรรมนั้นคาดว่าจะมีใหญ่หลวง น่าที่จะได้มีการศึกษาและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเดิมเหมือนเมื่อครั้งพัฒนาประเทศในส่วนกลางและปริมณฑล
3 ประเทศที่เกี่ยวข้อง
1) จีน (ยูนนาน) ยูนนานเป็นมณฑลทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ตั้งอยู่บนที่ราบสูง เป็นมณฑลที่มีชนชาติส่วนน้อยมากเผ่าและจำนวนมากที่สุดของจีน เคยมีราชอาณาจักรของชนชาติเหล่านี้ตั้งอยู่ ที่สำคัญได้แก่อาณาจักรน่านเจ้า เป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางชีวภาพเนื่องจากมีภูมิอากาศทั้งเขตร้อนชื้น กึ่งร้อนชื้น และเขตอบอุ่น และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งได้กลายเป็นจุดเด่นของกิจการท่องเที่ยว มีทรัพยากรสำคัญ ได้แก่ น้ำ แร่ธาตุโดยเฉพาะพวกเชื้อเพลิง และป่าไม้ ยูนนานถูกกำหนดให้เป็นเมืองหน้าด่านของจีนในการเปิดประตูสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่อยู่ลงมาทางใต้