ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างถนนลูกรังสายสมุทรปราการ-สมุทรสาคร กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน ๔๒๐ วัน แต่เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ฟ้องคดีได้รวมระยะเวลา ๙๗ วัน หลังจากรับมอบพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ผู้ฟ้องคดีเจออุปสรรคเกี่ยวกับน้ำท่วมบริเวณก่อสร้าง ทำให้ ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๕ แจ้งเหตุอุปสรรคดังกล่าวและขอขยายระยะเวลาตามสัญญาและได้มีหนังสือลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ถึงประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างเพื่อขอขยายระยะเวลาตามสัญญาออกไปอีก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติไม่ขยายระยะเวลาก่อสร้าง โดยอ้างว่าสภาพน้ำท่วมขึ้นลงตามธรรมชาติ ซึ่งอาจมีบางช่วงเวลามีระดับน้ำสูงมาก แต่มิได้ท่วมขังพื้นที่ก่อสร้างตลอดเวลา ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการโต้แย้งผลการพิจารณาคำอุทธรณ์ที่ไม่ขยายระยะเวลาตามสัญญา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีความว่า ภาวะน้ำท่วมบริเวณสถานที่ก่อสร้างดังกล่าวเกิดจากสภาพน้ำขึ้นลงตามธรรมชาติ มิใช่เหตุสุดวิสัยที่จะพิจารณาขยายระยะเวลาของสัญญาจ้างตามข้อ ๑๓๙ (๒) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ จึงไม่สามารถขยายระยะเวลาก่อสร้าง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการวินิจฉัยไม่ขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดีและเป็นคำสั่งทางปกครองที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายต้องถูกปรับตามสัญญา ขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่ขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาและให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ศาลปกครองชั้นต้นตรวจพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่า การพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาเป็นการใช้สิทธิตามสัญญา มิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา จึงมิใช่คำสั่งทางปกครอง และกรณียังมิได้มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ส่วนคำขอที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอนุมัติให้ขยายระยะเวลาตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดีนั้น ศาลปกครองไม่อาจมีคำบังคับให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวได้ ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า โดยที่ข้อ ๒๑ ของสัญญาดังกล่าวกำหนดว่า ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุใด ๆ ทำให้ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาอันมิใช่ความผิดของผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างจะต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ว่าจ้างทราบเพื่อขอขยายเวลาทำงาน ซึ่งการขยายกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาอยู่ในดุลพินิจของผู้ว่าจ้างที่จะพิจารณาตามที่เห็นสมควร ศาลปกครองไม่มีอำนาจกำหนดคำบังคับคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดนอกเหนือหรือแตกต่างไปจากที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ในสัญญาได้ จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง(๓) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ข้อ ๑๓๙ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติเท่านั้นมิใช่เป็นอำนาจเด็ดขาดของฝ่ายปกครอง นั้น เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวปรากฏอยู่ในข้อ ๒๑ ของสัญญาที่พิพาทในคดีนี้ด้วย จึงเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการในฐานะ ผู้ว่าจ้างที่จะพิจารณาขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ ตกลงกันไว้ ส่วนประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาเป็นการใช้อำนาจอันเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแต่เพียงฝ่ายเดียว คำสั่งไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นแล้ว นั้น เป็นกรณีการใช้สิทธิที่กำหนดไว้ในสัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างตามข้อ ๒๑ ของสัญญาดังกล่าว มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี จึงมิใช่เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ สำหรับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มิใช่หัวหน้าส่วนราชการหรือเป็นผู้ว่าจ้างตามสัญญา จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่อนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ไม่มีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาชอบแล้ว
จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น