กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทยมาเป็นเวลา 417 ปี (พ.ศ.1893-2310 หรือ ค.ศ.1350-1767) ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรไทยมากมาย บ้างก็เป็นพ่อค้า บ้างก็เป็นบาทหลวงสอนศาสนา บางคนเป็นทหารอาสาซึ่งในระยะเวลาเดียวกันนั้น ในประเทศญี่ปุ่นมีพวกราชวงศ์ของลอร์ดโอดาผู้พิชิตและลอร์ดโตโยโตมิ ครองสืบต่อกันมาจนถึงสมัยโชกุนโตกุกาวา การปกครองระบอบเจ้าขุนมูลนายได้ล้มเลิกไป ญี่ปุ่นสามารถรวมประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเจริญก้าวหน้าในประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อพวกโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขายติดต่อกับชาวญี่ปุ่นที่เกาะกาชิมา ในปี ค.ศ. 1543 นับเป็นชาวต่างชาติชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับชาวญี่ปุ่น ทำให้การค้าขายในประเทศญี่ปุ่นเริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้น สมัยนั้นทางการญี่ปุ่นได้อนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นเดินเรือไปค้าขายกับต่างชาติได้ โดยออกใบอนุญาตชูอิน (ตราแดง) ให้ นอกจากจะมีเรือที่มีใบอนุญาตออกไปค้าขายแล้ว ยังปรากฏว่ามีเรืออื่นๆ ของชาวญี่ปุ่นเดินทางไปค้าขายในประเทศทางตะวันออกเฉียง ใต้อีกด้วย
ในบรรดาพวกที่เดินทางไปค้าขายนี้ มีพวกหนึ่งซึ่งเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินไทยได้มีพระบรมราชานุญาตให้ชาวญี่ปุ่นตั้งหลักแหล่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับชาวต่างชาติอื่นๆ นับแต่นั้นมาก็มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยอยู่ในอยุธยาเพิ่มมากขึ้นจากจำนวน 800 คน เพิ่มเป็น 3,000 คน ถ้าจะนับรวม ไปถึงผู้อาศัยและคนงาน อาทิเช่น คนไทย จีน ญวน ก็นับเป็นจำนวนถึง 8,000 คน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ชาวญี่ปุ่นที่เข้าตั้งหลักแหล่ง อยู่ในกรุงศรีอยุธยานี้ มีหัวหน้าปกครองเป็นระยะๆ ไป ดังนี้ ออกพระสุมิฮิโร (ค.ศ. 1600-1610) คิวเอมอน ชิโรอิ (ค.ศ. 1610-1617) นากามาสะ ยามาดะ หรือ ออกญาเสนาภิมุข (ค.ศ. 1617-1630) ตาเอมอน อิโตยะ กับ คุนิซุเก ฮิรามัตซุ (ค.ศ. 1633-1640) และฮันไซมอน คิมุระ กับ เซนเอมอน อันโตนี (ค.ศ. 1640-?)
ในบรรดาหัวหน้าปกครองชาวญี่ปุ่น นากามาสะ ยามาดะ (เกิดในจังหวัดชิซุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น) นับว่าเป็นผู้มีอำนาจและเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินไทยมากที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงได้รับแต่งตั้งเป็นออกญาเสนาภิมุข หลังจากที่พระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1628 ออกญาเสนาภิมุขได้แสดงความจงรักภักดีต่อโอรส 2 องค์ของพระเจ้าทรงธรรม โดยได้เดินทางไปนครศรีธรรมราชในฐานะเป็นผู้บัญชาการกองทหารอาสาสมัครเพื่อปราบกบฏที่นั่น เมื่อปราบกบฏจนราบคาบแล้วออกญาเสนาภิมุขจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแต่น่าเสียดายที่เขาเสียชีวิตลงที่นั่นเมื่อเดือนกันยายน 1630