ระบบเศรษฐกิจ
ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน ย่อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพในสังคม การผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจก็ตาม สังคมทุกรูปแบบไม่ว่าจะมองในแง่ส่วนบุคคลแต่ละคนหรือในแง่เป็นหมู่คณะ ต่างก็มีความต้องการในสินค้าและบริการมากกว่ากำลังการผลิตเสมอ ยิ่งสังคมเจริญก้าวหน้ามากขึ้นก็จะก่อให้เกิดการขยายตัวของความต้องการชนิดใหม่ หรือความต้องการชนิดใหม่ในรูปแบบเก่าอยู่ตลอดเวลา ความต้องการทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางสติปัญญา และจินตนาการมีมากมายหลายรูปแบบ และโดยแท้จริงแล้ว ความต้องการต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดมักจะมีจุดอิ่มตัวได้ เช่น เมื่อหิวคนเราต้องการอาหารจำนวนเต็มจำนวนหนึ่ง แต่เมื่ออิ่มก็ไม่ต้องการอาหารอีกจนกว่าจะเกิดความหิวและต้องการอาหารขึ้นมาใหม่ แต่ความต้องการทั้งหมดของคนเรานั้นไม่มีขอบเขตหรือไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อมนุษย์มีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตครบถ้วนแล้วก็เริ่มมีความต้องการที่พิเศษออกไป เช่น อยากรับประทานอาหารรสเลิศตามสถานที่หรู ๆ ชุดเดินเล่น ฯลฯ ความต้องการต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการแข่งขันกันเพื่อแบ่งทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องมีวิธีการตัดสินว่าความต้องการชนิดใดมีความสำคัญกว่ากัน เพื่อจะได้จัดเข้าเป็นความต้องการที่ได้รับการบำบัดก่อนหลัง การจัดลำดับความสำคัญของความต้องการและการหาสรรพสิ่งต่างๆ มาบำบัดความต้องการนี้เองเป็นหน้าที่การดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจ