คนมลายูที่ปัตตานี”
ในฐานะผู้เขียนวิทยานิพนธ์และผู้บรรยายหลัก ผมเห็นว่าประเด็นที่จะกล่าวต่อไปนี้ มิได้มีความสลักสำคัญทางแนวความคิดและทฤษฏีมากไปกว่าการพยายามเข้าใจกระบวนการสร้างความหมายและการตีความของคนมลายูผ่านกระบวนการเล่าเรื่องในบริบทต่างๆอันสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ชีวิต และความทรงจำที่คนมลายูมุสลิมมีต่อตนเอง ญาติมิตร ชุมชนและผู้คนต่างชาติพันธุ์ข้างเคียง ประสบการณ์และ
ความทรงจำซึ่งถูกทบทวน วิเคราะห์ และคัดสรรเหล่านี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามอธิบายความเปลี่ยนแปลงต่างๆในชีวิตประจำวันโดยคน
มลายูมุสลิมเองแน่นอน ผมไม่สามารถสรุปได้เต็มปากว่ากระบวนการศึกษาครั้งนี้คือสิ่งที่ทางมานุษยวิทยาเรียกว่า “ทัศนะจาก
คนใน” หรือ “ทัศนะจากคนพื้นถิ่น” เพราะประสบการณ์ชีวิตและความทรงจำที่ถูกเล่าออกมานั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งเชื่อมโยงและแผ่ปริมณฑลออกไปเกินกรอบข้อจำกัดของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในหน่วยของชุมชน หมู่บ้าน และขอบเขตของรัฐชาติสมัยใหม่ ขณะเดียวกันเรื่องเล่าดังกล่าวยังได้สะท้อนถึง “ความเป็นชาติพันธุ์” ที่มิได้มีความหมายคับแคบอยู่เพียง ภาษา เครื่องแต่งกาย และประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ หากมีการเปลี่ยนแปลงและดำรงอยู่ภายใต้บริบทเงื่อนไข ที่สำคัญคือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อำนาจในการปกครองของรัฐ และกระบวนการทำให้เป็นอิสลาม(Islamization)
ในแง่มุมของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คนมลายูซึ่งอยู่ในชุมชนแห่งนี้ มีเรื่องเล่าและความทรงจำในรูปแบบของสาแหรกเครือญาติ ที่สืบย้อนกลับไปยังเกาะและดินแดนต่างๆทั่วคาบสมุทรมลายู คนกลุ่มต่างๆเหล่านี้มีทั้งคนจีน โมโร และคนพื้นถิ่นกลุ่มต่างๆซึ่งได้นั่งเรือสำเภาเข้ามาค้าขาย และบางส่วนได้อพยพเคลื่อนย้าย หมุนเวียนไปยังเกาะต่างๆตาม การย้ายถิ่นของฝูงปลาซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญ กระทั่งเกิดการตั้งถิ่นฐาน ตลาด และชุมชนขนาดเล็กขึ้นริมทะเล ทั้งยังผูกสัมพันธ์กับคนพื้นถิ่น(ซึ่งเรียกตัวเองและถูกเรียกโดยคนกลุ่มอื่นว่า “ออแฆสิแย”หรือ “คนสยาม” ) ผ่านการแต่งงาน และการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนริมทะเลแห่งนี้เริ่มขยายตัวและเป็นชุมชนในลักษณะพหุลักษณ์ ซึ่งเป็น แหล่งรวมชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนจีน คนมลายู คนสยาม และกลุ่มพ่อค้าต่างแดนซึ่งเข้ามาแวะเวียนอย่างไม่ขาดสาย
ณ ห้วงเวลานี้ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์หรือ ความเป็นชาติพันธุ์ มิได้มีความสำคัญเท่ากับอัตลักษณ์ท้องถิ่นซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสำนึกร่วมที่ผู้คนหลากกลุ่มมีอยู่ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจาก ตำนาน คำบอกเล่า การแก้ไขปัญหา และความขัดแย้ง ต่างๆ ซึ่งแม้มิได้เกิดขึ้นโรแมนติกประดุจดุจดั่งภาพฝันของภาพลักษณ์ “ชุมชนที่ดีงาม” แต่ก็แสดงให้เห็นถึง การต่อรองทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างลงตัว เห็นถึงมิติของความสำคัญในเชิงสถานที่ และสำนึกในท้องถิ่นเป็นหลัก“ความเป็นชาติพันธุ์” เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งท่ามกลางในห้วงสถานการณ์ที่ชุมชนแห่งนี้เข้าสู่ “รัฐ-ชาติสมัยใหม่” ในลักษณะของ “การสร้างอาณาบริเวณภายในเขตอำนาจของรัฐ” (territorialization) ซึ่งเป็นการตรึงผู้คนให้ผูกติดกับพื้นที่ โดยเฉพาะการทำสำมะโนครัวประชากร และการทำบัตรประจำตัวประชาชน ในต้นปี พ.ศ. 2500 ซึ่งนับเป็นวิกฤติในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชนแห่งนี้เป็นอย่างมาก คนมลายูไม่สามารถเดินเรือไปนอกประเทศไปหาปลา และเยี่ยมญาติได้โดยปราศจากการยินยอมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังถูกทำให้ “กลายเป็นไทย” และมีสำนึกในความเป็นพลเมือง ผ่านมิติทางวัฒนธรรม ระบบการศึกษา และการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ ซึ่งได้แยกคนสยามที่เคยเป็นเครือญาติ(ซึ่งถูกเรียกโดยเจ้าหน้าที่รัฐและเรียกตนว่า “คนไทย” ในเวลาต่อมาตามนโยบายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ให้ออกไปตั้งชุมชนใหม่ต่างหาก พร้อมกับมอบโฉนดที่ดินทำกินให้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ ทำให้คนมลายูในชุมชนตกอยู่ในสถานะของพลเมืองชั้นสอง ในแง่มุมของการเข้าไม่ถึงกติกาหรือระเบียบที่ถูกจัดขึ้นมาใหม่หลังจากการถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ-ชาติสมัยใหม่ ทำให้ “ความเป็นมลายู” ในฐานะชาติพันธุ์ จึงกลายเป็นหลักประกันที่สำคัญแทนที่อัต
ลักษณ์ท้องถิ่นสำหรับการยืนยันว่า “พวกเขาคือใคร” ดังนั้น ความเป็นชาติพันธุ์ของมลายูในชุมชนแห่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ใหม่มากและมีความสำคัญต่อพวกเขาและเธอ ไม่เกิน 50 ปีมานี้
อย่างไรก็ตาม “ความเป็นมลายู” ก็มิได้เป็นเอกภาพหรือเป็นเนื้อเดียวกันโดยสมบูรณ์ หากเต็มไปด้วยรอยปริแยกด้วยสถานภาพทางสังคมและความขัดแย้งทางชนชั้น คล้ายคลึงกับสังคมอื่นๆทั่วโลก โดยเฉพาะในเรื่องของการตีความที่ต่างกันในหลักการทางศาสนาอิสลาม ซึ่งราวกับเป็นลักษณะอันโดดเด่นของสังคมมุสลิมการตีความที่ต่างกันในหลักการทางศาสนาอิสลาม เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้เป็นอิสลาม หรือจะเรียกอีกอย่างได้ว่า กระแสปฏิรูปศาสนาอิสลาม ซึ่งมุ่งเน้นสลายความเป็น “อิสลามแบบท้องถิ่น” (วัฒนธรรมท้องถิ่นผสมผสานกับหลักการทางศาสนา)ให้จางหายไป และเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักบัญญัติทางศาสนาทุกประการ แน่นอน ชุมชนมลายูแห่งนี้ได้เข้าสู่กระบวนการดังกล่าวด้วยเช่นกัน แต่อยู่ในลักษณะของการนำเอาหลักการทางศาสนามาให้ความชอบธรรมที่เกิดขึ้นในชุมชน มากกว่า ความขัดแย้งซึ่งเกิดจากการตีความหลักศาสนาโดยตรง ดังเช่น การประณาม “คนจน” ในชุมชนว่าเป็นกลุ่ม “สายเก่า” ที่ไม่เคร่งครัดต่อหลักการศาสนา มักเป็นผู้ที่งมงาย (แอบไหว้ผี บรรพบุรุษ บนบานสานกล่าว) มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สกปรก หนี้สินรุงรัง และล้าหลัง ซึ่งตรงข้ามผู้ประณามคือ กลุ่มสายใหม่ ซึ่งส่วนมากมักเป็นกลุ่มนายทุนและราชการ ที่เชื่อศาสนาอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีชีวิตในที่พักอาศัยที่สะอาดและมีความก้าวหน้า ความขัดแย้งและรอยปริแยกดังกล่าวเห็นได้จากการแยกมัสยิดสำหรับป