บทคัดย่อ
บทความนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ที่เป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ ทำให้สมดุลทางธรรมชาติเสียหาย ส่งผลกระทบกับโลกและมนุษยชาติโดยส่วนรวมและเริ่มมีความสลับซับซ้อนของปัญหาเพิ่มมากขึ้นมากขึ้น โดยเกิดจากค่านิยมในการบริโภคของมนุษย์ในเรื่องการครอบครองสัตว์ป่ามีชีวิต ซากสัตว์ป่าเพื่ออวดฐานะความร่ำรวย ตลอดจนความเชื่อแบบชาวตะวันออกดั้งเดิมในการนำซากสัตว์ป่ามาเป็นส่วนประกอบของยารักษาโรค ยาบำรุงกำลังทางเพศ โดยการค้าสัตว์ป่ากระทำอย่างเป็นขบวนการ โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายในประเทศที่เป็นประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่านถึงประเทศปลายทาง แม้จะมีการร่วมมือควบคุม การป้องกันจากอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ( The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora ) (CITES) แต่ความโลภของมนุษย์ก็ยังทำให้ปัญหาการค้าสัตว์ข้ามชาติยังคงมีความรุนแรงและมีมูลค่าสูงมากในปัจจุบัน จากการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีช่องโหว่ทางกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าข้ามพรมแดนของประเทศสมาชิกอาเซียน กฎหมายที่ไม่ครอบคลุมและรัดกุมทำให้เกิดช่องว่างของกฎหมายในการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ดังนั้น กลุ่มประเทศในอาเซียนควรตกลงกันให้การค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชป่าข้ามพรมแดนเป็นอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่สำคัญที่อาเซียนต้องร่วมกันในระดับภูมิภาคต่อต้านอาชญากรรมเหล่านี้ พร้อมกับปรับปรุงกฎหมายให้รัดกุม รอบคอบ ลดช่องว่าง และร่วมมือบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือเรียกโดยย่อว่า ไซเตส(CITES) เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนกระบวนการยับยั้ง ป้องกัน ขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติควบคู่ไปกับการให้ความรู้ให้การศึกษา ให้ทุกคนตระหนักถึงทรัพยากรสัตว์ป่าว่ามีคุณค่าและมีความสำคัญต่อโลกอย่างยิ่ง