ศาลพระพรหมเอราวัณตั้งอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพพมหานคร ศาลแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นพระพรหมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าผู้สร้างโลกในศาสนาฮินดู บริเวณศาลพระพรหมเอราวัณปัจจุบันเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม บริเวณนี้ยังเป็นชุมชนของผู้ที่มีอาชีพรำแก้บนถวาย ซึ่งนักท่องเที่ยวหรือบุคคลทั่วไปสามารถจ้างเพื่อรำถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาแด่พระพรหมและเชื่อว่าจะส่งผลให้คำอธิษฐานเป็นจริงได้
เมื่อ พ.ศ. 2494 พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ ว่ากันว่าในช่วงแรกของการก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ปลายปี พ.ศ. 2499 ทาง บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมได้ติดต่อ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. นายแพทย์ใหญ่ กองทัพเรือ ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องการนั่งทางใน เข้าดำเนินการหาฤกษ์วันเปิดโรงแรม
พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ได้ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม "เอราวัณ" นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจากพระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม
จึงได้มีการตั้งศาลพระพรหม ออกแบบตัวศาลโดยนายระวี ชมเสรี และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล องค์ท้าวมหาพรหมปั้นด้วยปูนพลาสเตอร์ปิดทอง ออกแบบและปั้นโดยนายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และอัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499
ตามแผนงานครั้งแรก องค์ท้าวมหาพรหมจะเป็นโลหะหล่อสีทอง แต่เนื่องจากระยะเวลาจำกัดด้วยฤกษ์การเปิดโรงแรม จึงได้เปลี่ยนวัสดุเป็นปูนปั้นปิดทองแทน
ศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ ถือเป็นศาลพระพรหมศาลแรกที่มีขนาดใหญ่ ในเวลาต่อมาเมื่อมีการสร้างศาลพระพรหมไว้บูชาในอาคารหรือสถานที่ขนาดใหญ่ จะยึดแบบการสร้างจากศาลท้าวมหาพรหมที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ เนื่องจากความเชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าความขัดข้อง อุปสรรค และส่งเสริมโชคและความสำเร็จ
ปัจจุบัน ศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ อยู่ในความดูแลของ "มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม"
ด้วยเหตุที่ท่านท้าวมหาพรหมถูกชายที่ไม่สมประกอบทุบในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งทำให้ตัวองค์แตก ดังนั้นจึงมีกำหนดการที่จะบูรณะพระองค์ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับสร้างองค์ใหม่ด้วย แล้วเสร็จในปลายเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน
ปัจจุบัน ศาลพระพรหมเอราวัณยังคงคึกคักแทบทุกวันเพราะมีผู้คนเดินทางมาสักการะอย่างไม่ขาดสาย บ้างถึงกับเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากต่างแดนเพื่อขอพร เพราะเชื่อว่าองค์ท้าวมหาพรหมจะช่วยปัดเป่าทุกข์ภัยและส่งเสริมโชคลาภและความสำเร็จ จนสามารถได้กลิ่นควันธูปและได้ยินเสียงเพลงของคณะรำแก้บนได้แต่ไกล
ธูปเทียน ดอกไม้ และของบูชาสามารถหาซื้อได้ที่บริเวณศาล ใครที่ขอพรแล้วประสบความสำเร็จก็จะซื้อพวงมาลัย 7 สี 7 ศอก และจ้างนางรำเพื่อแก้บน รูปปั้นของพระพรหมเอราวัณในปัจจุบัน เป็นองค์จำลองที่สร้างขึ้นใหม่ เนื่องจากองค์เดิมถูกทุบจนแตกในปี 2549
ศาลพระพรหมเอราวัณตั้งอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ สามารถเดินทางไปได้อย่างสะดวกโดยนั่งรถไฟฟ้าไปลงที่สถานีชิดลม