สมัยโบราณในยุคราชวงศ์ต่างๆ นับช่วงพ้นปีเก่าเข้าปีใหม่แตกต่างกันไป กระทั่งปี 105 B.C. ฮั่นอู่ตี้ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฮั่นปรับเปลี่ยนระบบปฏิทินใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เรียกว่า ปฏิทินไท่ชูลี่
ปฏิทินไท่ชูลี่ ปรับปรุงขึ้นจากระบบปฏิทินของราชวงศ์เซี่ย (21-16 ศตวรรษ B.C.) ถือเอาวันแรกของปักษ์ลี่ชุน 立春 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ชาวจีนจึงนับเอาวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่มา 2010 ปีแล้ว
วันตรุษจีนหรือปีใหม่นี้ จีนโบราณเรียกว่า 过年 กั้วเหนียน ผ่านปีหรือ 元旦หยวนตั้น – ขึ้นปีใหม่
เทศกาลตรุษปีใหม่หรือตรุษวสันต์นี้ เดิมเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ นักวิชาการเริ่มวิเคราะห์จากคำว่า “เหนียน” 年ซึ่งปัจจุบันแปลว่า ปี
เทศกาลตรุษจีน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กั้วเหนียน” 过年
ในสมัยโบราณ (ก่อนราชวงศ์โจว) เหนียน หมายถึง รอบการเจริญเติบโตของธัญพืชรอบหนึ่ง ธัญพืชสุกพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว และ/หรือหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของการเพาะปลูก ดังนั้น คำว่า “กั้วเหนียน” เดิมทีมิได้หมายถึงการสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ แต่หมายความว่า ในปีนั้นๆ เก็บเกี่ยวได้อุดมสมบูรณ์
โดยทั่วไปแล้ว การเพาะปลูกในตงง้วนจะเก็บเกี่ยวกันตอนปลายฤดูใบไม้ร่วง ส่วนฤดูหนาวคือช่วงระยะล่าสัตว์ เมื่อเราย้อนกลับไปดูการกำหนดเดือนอ้ายขึ้นปีใหม่ในปฏิทินโบราณทั้ง 4 ระบบ จะเห็นว่าก๊กเซี่ย ขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนมกราคม ก๊กซางขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนธันวาคม ก๊กโจวขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนพฤศจิกายน ก๊กฉินขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนตุลาคม ที่ต่างกันดังนี้ อาจเนื่องมากจากความแตกต่างของฤดูกาล