ข้อได้เปรียบ
ภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่โอบล้อมด้วยชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว โดยบทบาทการพัฒนาพื้นที่ที่สำคัญ ได้แก่
1. เป็นฐานการผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมันครบวงจร เนื่องจากภาคใต้มีผลผลิตยางพาราถึงร้อยละ 86 ของประเทศและผลผลิตปาล์มน้ำมันร้อยละ 93 ของประเทศ จึงควรพัฒนาแบบครบวงจรเพื่อให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางยางพาราโลก โดยมีฐานการผลิตสำคัญอยู่ในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้และศูนย์กลางการผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันของประเทศ โดยมีฐานการผลิตสำคัญในกลุ่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
2. เป็นฐานการผลิตอาหารทะเลแปรรูป ภาคใต้มีความได้เปรียบด้านทรัพยากรและทักษะอาชีพด้านการประมง โดยมีกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นฐานอุตสาหกรรมการประมงที่สำคัญของภาค ประกอบกับผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปมีศักยภาพและได้รับการยอมรับจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาหารทะเล นอกจากนั้นยังมีความได้เปรียบจากการมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยจังหวัดชายแดนภาคใต้มีวัฒนธรรมสังคมที่เชื่อมโยงกับโลกมุสลิมจึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกมุสลิมได้
3. เป็นฐานการท่องเที่ยวทางทะเลชั้นนำระดับโลก ภาคใต้มีทรัพยากรท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันและกลุ่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมระดับนานาชาติ เช่น เกาะภูเก็ต เกาะพีพี เกาะสมุย จึงควรรักษาความมีชื่อเสียงและเพิ่มมนต์เสน่ห์ด้วยการเพิ่มกิจกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ เช่น กิจกรรม MICE และ Marina ที่เกาะภูเก็ต เพื่อเสริมบทบาทสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก
4. เป็นประตูการค้าและการขนส่งเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านด้านใต้และนานาชาติ ภาคใต้มีพื้นที่เปิดสู่ทะเลทั้ง 2 ด้าน จึงมีศักยภาพในการพัฒนาท่าเรือและเส้นทางคมนาคมขนส่งทางทะเลเพื่อเชื่อมโยงการค้าการคมนาคมขนส่งสู่ภูมิภาคต่างๆ เช่น อินเดีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยปัจจุบันกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาเชื่อมโยงสองฝั่งทะเลบริเวณสงขลา-สตูล รวมทั้งการเชื่อมโยงสู่มาเลเซียและสิงคโปร์เพื่อให้ภาคใต้มีบทบาทเป็นประตูการค้าการขนส่งสู่นานาชาติแห่งใหม่ของประเทศ
5. เป็นฐานอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ ภาคใต้ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งผลิตอุตสาหกรรมเหล็กบริเวณอำเภอบางสะพาน จ.ประจวบฯ ที่มีข้อจำกัดด้านการขยายพื้นที่และการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน และอยู่ใกล้แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยกลุ่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมพลังงานจากก๊าซแห่งใหม่ของประเทศ
ปัญหาพื้นฐานของภาคใต้
1. ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากผลผลิตหลักเดิมเพียงไม่กี่ชนิดคือ ยางพารา ประมงและแร่ดีบุก โดยมีการท่องเที่ยว การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ปาล์มน้ำมันและกาแฟเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับภาวะของตลาดต่างประเทศ จึงทำให้เศรษฐกิจของภาคใต้ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการและระดับราคาของสินค้าในตลาดโลกเป็นสำคัญ
2. ปัญหาประสิทธิภาพในการผลิต ประสิทธิภาพในการผลิตของภาคใต้อยู่ในระดับ ต่ำและเป็นการแปรรูปวัตถุดิบอย่างง่าย ๆ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างสิ้นเปลืองและทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นเหตุให้แหล่งผลิตและสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง การลงทุนไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับประมง
3. ปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน การพัฒนาทางด้านสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานค่อนข้างจะล่าช้าเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ ของประเทศ การชลประทานยังไม่เพียงพอ เส้นทางคมนาคมขนส่งภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัดยังไม่สะดวกเท่าที่ควร รวมทั้งไฟฟ้า โทรศัพท์ และน้ำประปา มีใช้ไม่ทั่วถึง
4. ปัญหาแรงงานและการกระจายรายได้ ภาคใต้มีประชากรน้อย และผลจากการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน จาก 6 ปีเป็น 9 ปี ทำให้ผู้เข้าสู่กำลังแรงงานมีน้อยลง ประกอบกับมีแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อพยพไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ภาคใต้ขาดแคลนแรงงาน จำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากภาคอื่น นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนอยู่ไม่น้อย เพราะผู้ที่มีรายได้สูงจะกระจุกตัวอยู่กับพ่อค้าและบรรดานักธุรกิจจำนวนไม่มากรายและเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคม ประชากรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ยังเป็นเกษตรกรยากจน มีรายได้ต่ำและไม่แน่นอน การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังกระจายไม่ทั่วถึงทั้งภาค ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่เฉพาะในชุมชนบริเวณแหล่งผลิตสำคัญ ๆ และตัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าของภาค
5. ปัญหาความสงบและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและเป็นที่กังวลกันมากในภาคใต้ก็คือ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักธุรกิจ อันเกิดจากโจรผู้ร้าย ผู้ก่อการร้าย ขบวนการโจรก่อการร้ายและโจรจีนคอมมิวนิสต์ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นการทำลายบรรยากาศในการลงทุนในภาคใต้ ได้แก่ การเรียกค่าคุ้มครอง ทำให้การผลิตทำได้ไม่เต็มที่ ทั้ง ๆ ที่สามารถจะขยายตัวได้อีกมาก