ปรากฏการณ์เอลนิโญ
ความหมาย
เอลนิโญ เป็นคำที่มาจากภาษาเปรู หมายถึง บุตรของพระเจ้า ใช้เรียกปรากฏการณ์ของอากาศที่ชาวประมงตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้คุ้นเคยกัน ประมาณช่วงเทศกาลคริสต์มาสของทุกปี ชาวประมงสังเกตว่าพวกเขาสามารถจับปลาได้น้อยลงอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภูมิอากาศตามฤดูกาลเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก โดยการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ไหลตามปกติจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกไหลย้อนกลับ ส่งผลให้อุณหภูมิของพื้นผิวทะเลตั้งแต่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางจนถึงชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้อบอุ่นขึ้น การลอยตัวของมวลน้ำเย็นในเขตศูนย์สูตรซึ่งตามธรรมดาเกิดขึ้นตามแถบชายฝั่งทะเลจะหยุดลง ทำให้สารอาหารไม่สามารถลอยตัวขึ้นจากท้องทะเลได้ กระทบต่อถึงแพลงก์ตอนและปลาต้องอพยพไปหากินที่แถบอื่น จึงทำให้จำนวนปลาลดลง
ปัจจุบัน มีการใช้คำนี้อย่างแพร่หลายเพื่อหมายถึงปรากฏการณ์ของภูมิอากาศที่รุนแรงผิดปกติ และเชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงทั่วโลก โดยปรากฏการณ์เอลนิโญครั้งใหญ่ๆ มักเกิดขึ้นประมาณ 3 ครั้งต่อปี และตามสถิติของปรากฏการณ์ มีวงจรเกิดทุก 2 – 7 ปี ทำให้เกิดผลกระทบต่อภูมิอากาศในบริเวณ 1 ใน 4 ของพื้นผิวโลก จึงมีการคาดหมายว่าปรากฏการณ์นี้มีผลกระทบต่อลมฟ้าอากาศในบริเวณที่เหลือของโลกด้วยเช่นกัน
ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ
ปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นผิวของมหาสมุทรกับบรรยากาศในบริเวณแปซิฟิกเขตร้อนที่เกิดขึ้นซับซ้อนระหว่างมหาสมุทรและบรรยากาศ และบรรยากาศเป็นตัวกำหนดการเกิดและการสิ้นสุดของปรากฏการณ์เอลนีโญ ระบบของปรากฏการณ์เอลนีโญมีการกวัดแกว่งระหว่างสภาพความร้อนและสภาพความเย็นของผิวหน้าน้ำทะเล